Google

Sunday, October 18, 2009

Alliance

ความเป็นพันธมิตร

ข้อตกลงของรัฐต่าง ๆ ที่จะให้การสนับสนุนกันและกันทางด้านการทหาร ในกรณีที่มีการโจมตีต่อสมาชิกใดสมาชิกหนึ่ง หรือเพื่อจะเสริมสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน ความเป็นพันธมิตรกันนี้อาจจะเป็นแบบทวิภาคีหรือแบบพหุภาคี แบบลับหรือแบบเปิดเผย แบบง่ายหรือแบบที่มีการจัดการอย่างดี แบบระยะสั้นหรือแบบระยะยาว แบบที่ใช้ป้องกันสงครามหรือแบบมีชัยในสงคราม ระบบดุลอำนาจมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนให้มีการลงนามในกติกาสัญญาเป็นพันธมิตรทางทหารกัน เพื่อสร้างภาวะสมดุลเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสมการอำนาจเกิดขึ้น กฎบัตรสหประชาชาติได้ให้การรับรองในสิทธิ "ป้องกันตนเองร่วมกัน” ไว้ในมาตรา 51

ความสำคัญ มีพันธมิตรหลายกลุ่มในทุกวันนี้ ที่ได้ขยายตัวไปเป็นองค์การระดับภูมิภาค เพื่อให้ความร่วมมือกันในด้านเศรษฐกิจ สังคม การบริหาร การระงับข้อพิพาท ตลอดจนถึงการทหาร ระบบความเป็นพันธมิตรแบบหลากหลายหน้าที่ ได้แก่ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ(นาโต)องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (ดับเบิลยูทีโอ) หรือองค์การอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น สันนิบาตอาหรับ องค์การเอกภาพแอฟริกา (โอเอยู) และองค์การรัฐอเมริกา (โอเอเอส) จะมีมาตรการเรื่องพันธกรณีด้านความมั่นคงร่วมกัน แต่ทว่ามาตรการเหล่านี้จะมุ่งผลทางการเมืองมากกว่าผลทางการทหาร ในขณะที่ความเป็นพันธมิตรกันนี้อาจจะช่วยสร้างความรู้สึกปลอดภัย และให้การป้องปรามต่อการรุกรานได้ก็จริง แต่ก็อาจจะเป็นเหตุให้เกิดความตึงเครียดระหว่างประเทศ และมีการรวมกลุ่มพันธมิตรอื่นขึ้นมาต่อต้านได้ การแข่งขันระหว่างกลุ่มพันธมิตรต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะแข่งขันกันด้านอาวุธจนทำให้เกิดวิกฤตการณ์ขึ้นมาบ่อย ๆ และบางครั้งก็ทำให้เกิดสงครามได้ด้วย ระบบความเป็นพันธมิตรกัน ที่ทำหน้าที่เป็นกลไกแห่งดุลอำนาจ มีแนวโน้มว่าจะคงอยู่ต่อไปจนกว่าจะได้มีการสถาปนาระบบความมั่นคงร่วมกันในระดับสากลขึ้นมาได้อย่างมีประสิทธิผล

Alliance : Act of Chapultepec

ความเป็นพันธมิตร : รัฐบัญญัติชาพุลเตเพ็ก

มติที่รัฐต่าง ๆ ในทวีปอเมริกายอมรับว่า การโจมตีใด ๆ ต่อรัฐหนึ่งรัฐใดในหมู่ตน โดยรัฐหนึ่งรัฐใดที่อยู่ในซีกโลกนี้ หรือโดยรัฐใดรัฐหนึ่งที่มิได้อยู่ในซีกโลกนี้ ให้ถือว่าเป็นปฏิบัติการรุกรานต่อทุกรัฐในหมู่ตน รัฐบัญญัติชาพุลเตเพ็กนี้ ได้มีการลงนามกันที่กรุงเม็กซิโกเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ.1945 โดยผู้แทนของสาธารณรัฐต่าง ๆ ในทวีปอเมริกา รวม 21 รัฐด้วยกัน คำประกาศหรือปฏิญญาที่ว่านี้ เป็นการกรุยทางไปสู่สนธิสัญญาริโอ ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ปี ค.ศ. 1947 สนธิสัญญาฉบับนี้ กำหนดให้มีบทลงโทษและให้มีการปฏิบัติการในระดับภูมิภาค หากมีรัฐใดรัฐหนึ่งในทวีปอเมริกา หรือที่มิได้อยู่ในทวีปอเมริกา ได้ทำการรุกรานรัฐใดรัฐหนึ่งในทวีปอเมริกานี้

ความสำคัญ รัฐบัญญัติชาพุลเตเพ็กนี้ ส่งผลให้มีการขยายหลักนิยมมอนโรในส่วนของหลักประกันฝ่ายเดียวที่ประกันมิให้มีการแทรกแซงเข้าไปในทวีปอเมริกา ออกไปเป็นระบบที่ให้ร่วมกันตอบโต้ต่อการรุกรานจากภายนอก หรือจากภายในซีกโลกตะวันตกนี้ รัฐบัญญัตินี้เป็นผลมาจากความริเริ่มของสหรัฐอเมริกาที่จะให้หลักประกันว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การสหประชาชาติที่จะจัดตั้งขึ้นมานั้น จะต้องไม่มาห้ามรัฐต่าง ๆ ในทวีปอเมริกาจากปฏิบัติการร่วมกันเกี่ยวกับความมั่นคงของซีกโลกตะวันตกนี้

Alliance : ANZUS Pact

ความเป็นพันธมิตร : กติกาสัญญาแอนซัส

สนธิสัญญาความเป็นพันธมิตรแบบไตรภาคีที่ได้ลงนามกันเมื่อ ค.ศ. 1951 โดยประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา เพื่อพิทักษ์ความมั่นคงของภาคพื้นแปซิฟิก สนธิสัญญานี้ ซึ่งยังมีผลบังคับใช้อย่างไม่มีกำหนดเวลา มีข้อกำหนดไว้ว่า การโจมตีต่อภาคีแห่งสนธิสัญญาสามชาติ ชาติใดชาติหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นอันตรายต่อภาคีทั้งสามชาติ และว่า ภาคีแห่งสนธิสัญญานี้แต่ละชาติจะดำเนินการเพื่อเผชิญกับอันตรายร่วมกันนี้ตามกระบวนการทางรัฐธรรมนูญของแต่ละชาติภาคี ชาติภาคีได้ตกลงกันด้วยว่าจะเพิ่มศักยภาพการป้องกันร่วมกัน ด้วยการช่วยตนเองและให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้วย

ความสำคัญ กติกาสัญญาแอนซัสนี้ ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาข้อขัดข้องจากการที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ไม่เห็นด้วยกับสนธิสัญญาสันติภาพญี่ปุ่น หลังจากที่ฝรั่งเศสได้พ่ายแพ้ทางการทหารในอินโดจีนเมื่อปี ค.ศ. 1954 แล้วนั้น ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ คือ นายจอห์น ฟอสเตอร์ ดัลลัส ได้หาทางขยายสนธิสัญญาฉบับนี้ และได้ให้การปกป้องเอเชียใต้ จากการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยการสร้างองค์การ สนธิสัญญาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีโต) ซึ่งเป็นองค์การที่มีขอบข่ายการทำงานกว้างขวางกว่า ถึงแม้ว่าองค์การซีโตจะได้สลายตัวไปแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1977 แต่ทว่ากติกาสัญญาแอนซัสนี้ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ต่อไป กติกาสัญญาแอนซัสยังมีตัวช่วยเสริม จากกติกาสัญญาแบบทวิภาคีอีกหลายฉบับ ระหว่างสหรัฐอเมริกากับชาติเอเชียอีกหลายชาติ คือ กับฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลี นอกจากนี้แล้ว กติกาสัญญาแอนซัสนี้ ก็ยังเป็นการให้การรับรองด้วยว่า สหรัฐอเมริกาได้เข้ามาสวมบทบาทแทนอังกฤษในการสร้างความมั่นคงแก่สองสมาชิกในกลุ่มเครืองจักรภพอีกด้วย อย่างไรก็ดี เมื่อปี ค.ศ. 1986 สถานภาพของแอนซัสในฐานะเป็นข้อตกลงความเป็นพันธมิตรในการป้องกันร่วมกันได้รับการกระทบกระเทือนจากการไม่สามารถตกลงกันได้ อันสืบเนื่องมาจากนิวซีแลนด์ได้ประท้วงสหรัฐอเมริกาที่นำอาวุธนิวเคลียร์เข้ามาในภูมิภาคนี้

Alliance : Baghdad Pact

ความเป็นพันธมิตร : กติกาสัญญาแบกแดด

ความเป็นพันธมิตรที่จะรักษาสันติภาพและความมั่นคงในตะวันออกกลาง ซึ่งได้ใช้เป็นรากฐานเพื่อการพัฒนาเป็นองค์การสนธิสัญญากลาง (เซ็นโต) กติกาแบกแดดนี้ได้ลงนามกันเมื่อค.ศ. 1955 โดยประเทศอิรักและตุกี และมีประเทศอังกฤษ ปากีสถาน และอิหร่าน ได้ให้ภาคยานุวัติในปีเดียวกันนี้ด้วย สมาชิกทุกชาติของสันนิบาตอาหรับและมหาอำนาจตะวันตกสำคัญ ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการธำรงความมั่นคงในตะวันออกกลางต่างได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นภาคีของกติกาสัญญาฉบับนี้ แต่ก็ไม่มีชาติใดมาร่วมด้วยเลย เมื่อปี ค.ศ. 1959 กติกาสัญญาแบกแดดได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น องค์การสนธิสัญญากลาง (เซ็นโต) ภายหลังจากที่ประเทศอิรักได้ถอนตัวออกมาอย่างเป็นทางการเมื่อเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในปี ค.ศ. 1958 ต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 1979 เกิดการปฏิวัติในอิหร่าน ส่งผลให้อิหร่านถอนตัวออกจากการเป็นภาคี และเกิดการล่มสลายขององค์การเซ็นโตในที่สุด

ความสำคัญ กติกาสัญญาแบกแดดนี้ ได้พัฒนาขึ้นมาภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา และได้ใช้เป็น "แนวป้องกันแนวเหนือ" ในด้านตะวันออกกลาง ในระบบเครือข่ายพันธมิตรทั่วโลก ที่สร้างขึ้นมาโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทสหรัฐฯ นายจอห์น ฟอสเตอร์ ดัลลัส เพื่อใช้ " ปิดกั้น " การขยายตัวของคอมมิวนิสต์ ถึงแม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะมิได้เข้าร่วมเป็นภาคีโดยตรง แต่ก็มีผู้แทนของสหรัฐฯเข้าร่วมในการประชุมคณะกรรมาธิการเซ็นโตนี้และสหรัฐฯก็ได้ลงนามในกติกาสัญญาความมั่นคงแบบทวิภาคี กับอิหร่าน ปากีสถาน และตุรกี นอกจากนี้แล้ว สหรัฐอเมริกาก็ยังให้ความสำคัญแก่กติกาสัญญาแบกแดดนี้ โดยได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านการทหารและการป้องกันประเทศแก่หมู่ภาคีกติกาสัญญานี้ด้วย ฝ่ายสหภาพโซเวียตได้ประณามกติกาสัญญาแบกแดดและองค์การเซ็นโตว่าเป็นเครื่องมือของพวกจักรวรรดินิยมที่มีเป้าหมายในทางรุกราน ข้อตกลงความเป็นพันธมิตรในทางความมั่นคงฉบับนี้ ตั้งแต่แรกเกิดขึ้นมามีลักษณะอ่อนแอเสียแล้ว ทั้งนี้ก็เพราะไม่มีรัฐอาหรับต่าง ๆ มาเข้าร่วมเป็นสมาชิกภาพ แม้แต่ปากีสถาน ซึ่งเป็นภาคีสมาชิกก็ได้หันไปดำเนินนโยบายความเป็นกลางเสียในภายหลัง ส่วนสหภาพโซเวียตได้ลำเลียงอาวุธให้แก่ประเทศอาหรับหลายประเทศ และอังกฤษเองก็ได้หมดอำนาจทางการทหารในตะวันออกกลางโดยสิ้นเชิง

Alliance : Bilateral Security Pact

ความเป็นพันธมิตร : กติกาสัญญาความมั่นคงแบบทวิภาคี

สนธิสัญญาระหว่าง 2 ชาติ ที่ให้สัญญาว่าจะให้การสนับสนุนทางการทหารแก่กันและกันในกรณีที่มีการโจมตีจากรัฐที่สาม กติกาสัญญาความมั่นคงแบบทวิภาคีที่ว่านี้อาจจะเป็นแบบที่ให้ความช่วยเหลือในฉับพลันทันทีและโดยไม่มีเงื่อนไข ในกรณีที่มีการโจมตีต่อประเทศภาคีหนึ่งใด หรืออาจจะเป็นแบบให้ประเทศภาคีได้แต่เพียงขอคำปรึกษาหารือกันเท่านั้นก็ได้ กติกาสัญญาแบบสองฝ่ายนี้อาจจะใช้กับรัฐที่สามที่ทำการโจมตีรัฐภาคี หรืออาจมีการจำกัดในการใช้เฉพาะการโจมตีที่กระทำโดยรัฐนั้นรัฐนี้ตามที่ระบุไว้ในกติกาสัญญานั้นก็ได้

ความสำคัญ กติกาสัญญาความมั่นคงแบบทวิภาคีนี้ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการให้หลักประกันจากรัฐมหาอำนาจ ว่าตนจะมาอยู่เคียงข้างกับรัฐอ่อนแอทั้งหลายเมื่อยามที่ตกอยู่ในอันตราย รัฐที่มีอำนาจมากซึ่งดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อรักษาสถานภาพเดิม อาจจะลงนามในกติกาสัญญาความมั่นคงนี้ เพื่อจะได้ใช้เป็นข้ออ้างหาความชอบธรรมที่จะเข้าแทรกแซงหากความมั่นคงหรือบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐที่อ่อนแอนั้น ๆ ถูกคุกคาม ยกตัวอย่างเช่น ในตะวันออกกลาง สหรัฐอเมริกาได้ให้ความสำคัญกับระบบความมั่นคงขององค์การสนธิสัญญากลาง (เซ็นโต) โดยได้ลงนามในข้อตกลงแบบทวิภาคี กับอิหร่าน ปากีสถาน และตุรกี ในช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1950 ส่วนกติกาสัญญาความมั่นคงแบบทวิภาคีของสหรัฐอเมริกาฉบับอื่น ๆ ก็ได้แก่ ที่ได้ทำกับฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และสเปน

Alliance : Dunkirk Treaty

ความเป็นพันธมิตร : สนธิสัญญาดันเกิร์ก

กติกาสัญญาความมั่นคงระยะเวลา 50 ปี ที่ลงนามกันโดยอังกฤษกับฝรั่งเศส เมื่อ ปี ค.ศ. 1947 ซึ่งเรียกร้องให้มีการปรึกษาหารือและปฏิบัติการร่วมกันในการต่อต้านการรื้อฟื้นการรุกรานใด ๆ ของเยอรมนี สนธิสัญญาดันเกิร์กว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและการให้ความช่วยเหลือกันและกันนี้ ได้กำหนดให้มีการปรึกษาหารือกันอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับเรื่องทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับเรื่องทางการทหาร

ความสำคัญ สนธิสัญญาดันเกิร์กนี้ มีรากฐานมาจากความกลัวที่ถูกกระตุ้นจากความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่เยอรมนีชอบเข้าครอบงำทวีปยุโรปมาตลอด สนธิสัญญาฉบับนี้เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงการกลับมาเป็นมหาอำนาจอีกครั้งหนึ่งของฝรั่งเศส หลังจากที่ได้ประสบกับความหายนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี ค.ศ.1948 สนธิสัญญาดันเกิร์กนี้ ได้ทำหน้าที่เป็นแกนกลางให้มีการจัดตั้งองค์การสนธิสัญญาบรัสเซลส์ ซึ่งเป็นองค์การที่ได้ขยายการให้ประกันความมั่นคงแบบทวิภาคีให้รวมไปถึงเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก เมื่อปี ค.ศ. 1955 องค์การสนธิสัญญาบรัสเซลส์นี้ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นสหภาพยุโรปตะวันตก (ดับเบิลยูอียู) และมีเยอรมนีกับอิตาลีเข้าร่วมเป็นสมาชิกเพิ่มเข้ามาด้วย ส่วนจุดมุ่งหมายของกติกาสัญญานี้ก็ได้ถูกเปลี่ยนแปลง จากการป้องปรามเยอรมนี ไปเป็นการปฏิบัติการร่วมกันในกรณีที่ถูกโจมตีจากสหภาพโซเวียต สหภาพดับเบิลยูอียูนี้ได้เป็นตัวการนำไปสู่การขยายองค์การนาโตออกไป โดยให้รับเยอรมนีตะวันตกเข้ามาเป็นสมาชิกภาพด้วย อย่างไรก็ดี สนธิสัญญาดันเกิร์กนี้ยังมีผลบังคับใช้อยู่จวบจนทุกวันนี้

Alliance : Japanese-American Security Treaty

ความเป็นพันธมิตร : สนธิสัญญาความมั่นคงญี่ปุ่น-อเมริกัน

กติกาสัญญาป้องกันแบบทวิภาคี ซึ่งกำหนดให้มีการ ปรึกษาหารือร่วมกัน หากความมั่นคงของญี่ปุ่นถูกคุกคาม สนธิสัญญาความมั่นคงญี่ปุ่น-อเมริกันฉบับเดิมได้มีการลงนามกันเมื่อ ค.ศ. 1951 และได้มีการลงนามสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกันฉบับปรับปรุงที่วอชิงตันเมื่อปี ค.ศ. 1960 ภายใต้สนธิสัญญาฉบับใหม่นี้ สหรัฐอเมริกามีสิทธิ์ที่จะคงกำลังทางบก ทางเรือ และทางอากาศไว้ในญี่ปุ่น กองกำลังทั้งสามเหล่านี้อาจจะถูกใช้ (1) เพื่อรักษาสันติภาพและความมั่นคงในตะวันออกไกลโดยที่ไม่ต้องมีการปรึกษาหารือกันก่อนแต่อย่างใด หรือ (2) เพื่อปกป้องญี่ปุ่นจากการถูกโจมตีทางกำลังอาวุธ ทั้งนี้ภายหลังจากที่ได้มีการปรึกษาหารือกันเรียบร้อยแล้ว สนธิสัญญานี้ได้ระบุไว้ว่า ปฏิบัติการทางทหารที่ได้กระทำจากฐานทัพต่าง ๆ ของญี่ปุ่นภายนอกประเทศญี่ปุ่นนั้น "จะต้องมีการปรึกษาหารือกันก่อนกับรัฐบาลญี่ปุ่น"

ความสำคัญ สนธิสัญญาความมั่นคงญี่ปุ่น-อเมริกันนี้ รวมทั้งที่มีการติดอาวุธให้แก่ญี่ปุ่นใหม่ และการให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ แก่หน่วยทหารอเมริกันเข้าไปใช้ญี่ปุ่นเป็นฐานทัพนี้ ได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองในญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ.1960 ในช่วงที่จะมีการให้สัตยาบันสนธิสัญญาฉบับนี้ ได้เกิดเหตุจลาจลวุ่นวายขึ้นในญี่ปุ่น ทำให้ประธานาธิบดี ดไวท์ ดี. ไอเซนฮาว ต้องยกเลิกการเดินทางไปญี่ปุ่นตามกำหนดการเดิม ถึงแม้สภาไดเอต์ของญี่ปุ่นจะให้ความเห็นชอบต่อสนธิสัญญานี้ แต่ก็ได้เกิดเหตุการณ์เดินขบวนประท้วงและการก่อเหตุความรุนแรงของกลุ่มนักศึกษาฝ่ายซ้ายขึ้นเป็นระยะ ๆ ทำให้เรื่องข้อตกลงความมั่นคงญี่ปุ่น - อเมริกันนี้เป็นประเด็นที่ยังคุกรุ่นไม่จางหายไปจากใจคนญี่ปุ่น การที่ต้องให้สหรัฐอเมริกามารับผิดชอบในความมั่นคงของญี่ปุ่นตามที่ระบุไว้ในกติกาสัญญาปี ค.ศ. 1954 นั้น ก็เพราะว่าได้มีการระบุไว้ในรัฐธรรมนูญปี ค.ศ. 1947 ที่สหรัฐอเมริกาเองก็มีส่วนร่วมให้มีการเขียนด้วย ซึ่งมีข้อความในมาตรา 9 กำหนดให้ญี่ปุ่นประณามการทำสงครามและนิยมทหาร อย่างไรก็ดี สนธิสัญญาความมั่นคงปี ค.ศ. 1960 ได้สนับสนุนให้ญี่ปุ่นทำการติดอาวุธได้อีกเพื่อป้องกันตนเอง และสนับสนุนให้มีการร่วมมือกันระหว่างสองชาติเพื่อให้บรรลุถึงจุดประสงค์ที่ว่านี้ ทุกวันนี้ญี่ปุ่นมีกองกำลังป้องกันตนเองที่มีอานุภาพมาก ประกอบด้วยกองกำลังทางบก ทางเรือ และทางอากาศ

Alliance : North Atlantic Treaty

ความเป็นพันธมิตร : สนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ

สนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน ซึ่งได้มีการลงนามกันเมื่อวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1949 กำหนดให้มีสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคแอตแลนติกเหนือโดยการป้องกันร่วมกัน ประเทศภาคีสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือมีทั้งหมด 16 ชาติ เป็นประเทศภาคีแรกตั้งจำนวน 12 ชาติ(คือ เบลเยียม อังกฤษ แคนาดา เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ไอซ์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส และสหรัฐอเมริกา) และอีก 4 ชาติได้เข้ามาให้สัตยาบันในเวลาต่อมา(คือ กรีซและตุรกี เมื่อปี ค.ศ. 1952 เยอรมนีตะวันตกเมื่อปี ค.ศ. 1955 และสเปนเมื่อปี ค.ศ.1982) เพื่อให้ข้อกำหนดในสนธิสัญญาเป็นจริงขึ้นมา ก็ได้มีการสร้างโครงสร้างทางการทหาร-การเมือง-การบริหารขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ให้มีขอบข่ายกว้างขวางมากยิ่งขึ้น องค์การหลัก ๆ ของนาโตประกอบด้วย (1) คณะมนตรีแอตแลนติกเหนือ ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินใจในปัญหานโยบายทางการเมือง - การทหารที่สำคัญ ๆ (2) กรรมาธิการการทหาร ประกอบด้วยค้วยคณะเสนาธิการทหารของประเทศสมาชิก ซึ่งจะเป็นผู้ร่างนโยบายยุทธศาสตร์ทางทหารให้คณะมนตรีความมั่นคงได้พิจารณาอีกทีหนึ่ง และ (3) คณะเลขาธิการ ซึ่งมีเลขาธิการเป็นหัวหน้า สำหรับหัวใจของสนธิสัญญาฉบับนี้อยู่ที่มาตรา 5 ซึ่งระบุไว้ว่า "ภาคีสมาชิกทั้งหลายตกลงกันว่า การโจมตีทางทหารต่อประเทศภาคีหนึ่งหรือมากกว่าในทวีปยุโรป หรือในทวีปอเมริกา ให้ถือว่าเป็นการโจมตีต่อประเทศสมาชิกทั้งปวง และ…ภาคีแต่ละชาติ...จะช่วยภาคีหรือภาคีทั้งหลายเมื่อถูกโจมตี" นับแต่ปี ค.ศ. 1969 เป็นต้นมา มาตรา 13 ของสนธิสัญญานี้ได้อนุญาตให้ภาคีสมาชิกที่ลงนามแล้วใด ๆ "ยุติเป็นภาคีได้หลังจากที่ได้แจ้งว่าจะเลิกเป็นภาคีภายใน 1 ปี" อย่างไรก็ดี ยังไม่มีภาคีสมาชิกชาติใดได้เลิกเป็นภาคีสนธิสัญญาฉบับนี้เลย

ความสำคัญ สนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือนี้ ได้ทำหน้าที่เป็นข้อตกลงความเป็นพันธมิตรทางทหารขั้นพื้นฐานของกลุ่มประเทศตะวันตก เพื่อใช้เผชิญกับภัยคุกคามจากการรุกรานทางทหารของสหภาพโซเวียตในยุโรปตะวันตกและทวีปอเมริกาเหนือ สำหรับในส่วนของสหรัฐอเมริกานั้น สนธิสัญญาฉบับนี้ เป็นการแสดงออกถึงการละทิ้งนโยบายของสหรัฐฯในอดีตที่ไม่ต้องการเป็นพันธมิตรทางทหารในยามสงบกับใคร ถึงแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าโซเวียตมีแผนโจมตีทางทหารต่อดินแดนแอตแลนติกเหนือ แต่สนธิสัญญาฉบับนี้ก็ถือได้ว่าเป็นผลิตผลของความหวาดหวั่นพรั่นพรึงที่มีอยู่ในหมู่ประเทศภาคีว่าการโจมตีดังว่านั้นอาจจะเกิดขึ้นจริง ๆ ก็ได้ ถึงแม้ว่าประเทศภาคีแห่งสนธิสัญญาจะถือว่าสนธิสัญญาฉบับนี้เป็นข้อตกลงเป็นพันธมิตรกันในเชิงรับ แต่ทว่ากลุ่มประเทศในค่ายโซเวียตในยุโรปตะวันออกกลับเห็นไปว่า สนธิสัญญาฉบับนี้เป็นการคุกคามในเชิงรุก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่เยอรมนีตะวันตกได้เข้าร่วมเป็นภาคีของนาโตนี้แล้ว เพื่อเป็นการถ่วงดุลต่อสนธิสัญญาฉบับนี้และต่อองค์การนาโต กลุ่มรัฐที่ปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์ ก็ได้ลงนามกันในกติกาสัญญาวอร์ซอเมื่อปี ค.ศ. 1955 และก็ได้จัดตั้งองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (ดับเบิลยูทีโอ) ขึ้นมาอีกด้วย การท้าทายที่สำคัญต่อแนวความคิดในการสร้างเอกภาพให้เกิดขึ้นในสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ กลับเกิดมาจากภายในหมู่ภาคีขององค์การนาโตนี้เอง โดยมีสาเหตุมาจากการแข่งขันเพื่อความเป็นผู้นำระหว่างฝรั่งเศสกับสหรัฐอเมริกา การแข่งขันกันนี้ได้นำไปสู่การออกจากองค์การนาโตของฝรั่งเศสโดยที่ยังคงให้ความเคารพต่อสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือและให้ความร่วมมือกับภาคีสมาชิกอื่น ๆ ขององค์การนาโตในเรื่องนโยบายทางการทหารต่อไป

Alliance: Rio Treaty (Inter-American Treaty of Reciprocal Assistance)

ความเป็นพันธมิตร : สนธิสัญญาริโอ (สนธิสัญญาให้ความช่วยเหลือกันระหว่างรัฐในทวีปอเมริกา)

กติกาสัญญาป้องกันในระดับภูมิภาค ลงนามกันที่เมือง ริโอ เดอ จาไนโร เมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1947 กำหนดให้มีระบบความมั่นคงร่วมกัน เพื่อต้านทานปฏิบัติการรุกรานที่จะมีมาในซีกโลกตะวันตก ประเทศภาคีของสนธิสัญญาประกอบด้วยสาธารณรัฐต่าง ๆ ในทวีปอเมริกาจำนวน 21 สาธารณรัฐด้วยกัน แต่ต่อมามีสาธารณรัฐหนึ่ง คือ รัฐบาลคัสโตรของคิวบา ได้ถูกกีดกันออกไปมิให้เข้าร่วมอยู่ในระบบป้องกันระหว่างรัฐในทวีปอเมริกานี้ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962 เป็นต้นมา ในการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของสนธิสัญญานี้นั้น ก็ให้ดำเนินการโดยผ่านทางการประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศขององค์การรัฐต่าง ๆ ในทวีปอเมริกา (โอเอเอส) หรือที่ในบทเฉพาะกาลกำหนดให้ดำเนินการโดยคณะมนตรีขององค์การโอเอเอส สนธิสัญญานี้ใช้บังคับทั่วพื้นที่ในซีกโลกตะวันตก คือครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ขั้วโลกเหนือจนจรดขั้วโลกใต้ และมีขอบเขตในการดำเนินการ คือ ต่อต้านการรุกรานโดยอ้อมกล่าวคือ "ที่มิใช่เป็นการโจมตีด้วยอาวุธ" รวมทั้งการโจมตีโดยตรง ที่กระทำต่อรัฐใดรัฐหนึ่งในทวีปอเมริกา ในกรณีที่เป็นการโจมตีโดยตรงนั้น ภาคีสมาชิกแต่ละประเทศตกลงที่จะปฏิบัติการต่อต้านผู้รุกราน และให้ภาคคีสมาชิกแต่ละประเทศตัดสินใจเองว่าจะใช้วิธีการตอบโต้อย่างไร จนกว่าจะได้มีการตกลงร่วมกันในมาตรการต่าง ๆ ที่จะใช้ร่วมกัน ส่วนในกรณีที่เป็นการรุกรานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการโจมตีโดยตรง ตัวอย่างเช่น รัฐหนึ่งให้การสนับสนุนการปฏิวัติในอีกรัฐหนึ่ง กรณีเช่นนี้ก็ให้ภาคีสมาชิกปรึกษาหารือกันเท่านั้น แต่เมื่อจะมีการใช้มาตรการบังคับต่าง ๆ นับแต่มาตรการทางการทูตและทางการเศรษฐกิจจนถึงมาตรการทางการทหาร ก็จะต้องมีเสียงสนับสนุนสองในสามของมวลภาคีสมาชิกของสนธิสัญญาพันธมิตรฉบับนี้

ความสำคัญ สนธิสัญญาริโอ ถือว่าเป็นจุดสุดยอดของความพยายามกว่าครึ่งศตวรรษที่จะให้มีข้อตกลง ในการร่วมมือกันป้องกันของซีกโลกตะวันตกนี้ และก็เป็นการสร้างระบบพหุภาคีในการคัดค้านการแทรกแซงของต่างชาติที่สหรัฐฯ ได้ริเริ่มประกาศไว้ในลัทธิมอนโรเมื่อปี ค.ศ. 1823 สนธิสัญญาริโอนี้เป็นกติกาสัญญาความมั่นคงทั่ว ๆ ไปฉบับแรกที่สหรัฐฯเข้าร่วมลงนามด้วย และข้อผูกมัดหรือพันธกรณีขั้นพื้นฐานของสนธิสัญญานี้ที่ระบุไว้ว่า "การโจมตีทางทหารโดยรัฐหนึ่งรัฐใดต่อรัฐหนึ่งรัฐใดในทวีปอเมริกานี้ ให้ถือว่าเป็นการโจมตีต่อทุกรัฐ" นี่ก็ได้กลายเป็นแม่แบบสำหรับสนธิสัญญานาโตและสนธิสัญญาซีโต การคุกคามภายในต่อความมั่นคงของรัฐต่าง ๆ ในแถบละตินอเมริกา มีแนวโน้มว่าจะเป็นปัญหารีบด่วนในทศวรรษหลังปี ค.ศ.1980 ยิ่งเสียกว่าความน่าจะเป็นไปได้ว่าจะถูกโจมตีจากมหาอำนาจภายนอกทวีปแห่งนี้ สนธิสัญญานี้ได้นำกลับมาใช้เพื่อต่อต้านการคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์สากล เช่น ในกรณีของรัฐบาลคัสโตรแห่งคิวบาเมื่อปี ค.ศ. 1962 และกรณีเกิดปฏิวัติในโดมินิกันเมื่อปี ค.ศ. 1965 การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการร่วมมือกันตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลคิวบา ได้นำมาใช้ดำเนินการกับประเทศคิวบา ตลอดจนกองกำลังสันติภาพระหว่างรัฐในทวีปอเมริกาที่ได้สร้างขึ้นมาเป็นพิเศษนั้น ก็ได้ใช้เป็นช่องทางเพื่อร่วมกันเข้าแทรกแซงในสาธารณรัฐโดมินิกัน ปัญหาสำคัญในการใช้สนธิสัญญาริโอนี้กับการปฏิวัติ สงครามกลางเมือง และการบ่อนทำลาย ในประเทศภาคีต่าง ๆ ก็คือ กลัวว่าอาจจะเกิดปัญหาเก่าเกี่ยวกับลัทธิ "การแทรกแซงของพวกแยงกี้" มาอีก และอาจจะไปปิดกั้นการปฏิวัติทางสังคมที่เป็นสิ่งสำคัญต่อการนำไปสู่ความทันสมัยด้วยก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศภาคีสมาชิกส่วนใหญ่ต่างก็ไม่ให้การสนับสนุนต่อปฏิบัติการของสหรัฐอเมริกาในเกรนาดา (ปี ค.ศ. 1983) และในนิคารากัว ดังนั้นจึงไม่มีการเรียกร้องให้มีการใช้สนธิสัญญาฉบับนี้ และแม้แต่องค์การโอเอเอสเองก็มิได้ปฏิบัติการร่วมแต่อย่างใด นอกจากนี้แล้ว ในสงครามฟอล์กแลนด์ (มัลวินัส) เมื่อปี ค.ศ.1982 ระหว่างอังกฤษกับอาร์เจนตินา ก็มิได้มีการปฏิบัติการใด ๆ จากฝ่ายองค์การโอเอเอสอีกเช่นเดียวกัน

Alliance : Southeast Asia Collective Defense Treaty

ความเป็นพันธมิตร:สนธิสัญญาป้องกันร่วมกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กติกาสัญญาความมั่นคงร่วมกัน ที่ได้ลงนามที่กรุงมะนิลาเมื่อ ค.ศ. 1954 ซึ่งเรียกร้องให้ประเทศผู้ลงนามได้ปรึกษาหารือกันและเผชิญอันตรายร่วมกันที่สอดคล้องกับกระบวนการทางรัฐธรรมนูญของประเทศผู้ลงนามนั้น ๆ สนธิสัญญาฉบับนี้ให้ใช้ได้ทั้งกับการรุกรานจากภายนอกและการบ่อนทำลายภายในประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้ ประเทศภาคีของสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ ได้แก่ ออสเตรเลีย อังกฤษ ฝรั่งเศส นิงซีแลนด์ ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ไทย และสหรัฐอเมริกา และเพื่อให้หลักประกันของสนธิสัญญานี้เป็นจริงขึ้นมา เมื่อปี ค.ศ. 1955 ประเทศผู้ลงนามทั้งหลายก็ได้สถาปนาองค์การสนธิสัญญาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(ซีโต)ขึ้นมา ให้ทำงานผ่านทางคณะมนตรีและสำนักเลขาธิการ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่สำนักงานใหญ่ขององค์การที่กรุงเทพฯ เมื่อปี ค.ศ. 1977 องค์การซีโตได้สลายตัวไปแล้ว แต่สนธิสัญญาป้องกันร่วมกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงมีผลบังคับอยู่ต่อไป ในพิธีสารพิเศษของสนธิสัญญานี้ ได้กำหนดให้ขยายพื้นที่ความมั่นคงออกไปให้ครอบคลุมถึงกัมพูขา ลาว และเวียตนามใต้ แต่สนธิสัญญานี้ไม่ได้รวมเอาฮ่องกง เกาหลีใต้ และไต้หวันเข้ามาอยู้ด้วย เพราะผู้ลงนามในทวีปเอเชียไม่ประสงค์จะไปรับผิดชอบในการป้องกันสามประเทศหลังนี้

ความสำคัญ สนธิสัญญาป้องกันร่วมกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งต้องการจะให้เลียนแบบจากสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ(นาโต)มาเป็นฉบับเอเชีย ได้ลงนามกันโดยการนำของสหรัฐอเมริกา เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบพันธมิตรทั่วโลก ที่จะปิดกั้นลัทธิคอมมิวนิสต์ให้จำกัดอยู่เฉพาะในพรมแดนของประเทศที่มีการปกครองตามระบอบบนี้ไม่ขยายออกไปสู่ประเทศอื่น ถึงแม้ว่าประเทศที่มิได้มีการปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์ทั้งในเขตเอเชียใต้และเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกประเทศจะได้รับเชิญให้เข้าร่วมในสนธิสัญญานี้ แต่ก็มีเพียงชาติที่พึ่งพาความช่วยเหลืออย่างเต็มที่จากสหรัฐอเมริกาในเวลานั้นเท่านั้น คือ ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และไทย ที่เข้ามาเป็นภาคีของสนธิสัญญานี้ ต่อมาพลังแตกแยกที่เคยสร้างความอ่อนแอให้แก่องค์การนาโต ก็ได้มาสร้างความอ่อนแอให้แก่พันธมิตรของสนธิสัญญาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวคือ สหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือแก่อินเดียสร้างความไม่พอใจให้แก่ฝ่ายปากีสถาน ส่วนฝรั่งเศสได้เรียกร้องให้ดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตเป็นกลางนั้นก็เป็นเหตุให้เกิดการไม่ลงรอยกันในหมู่พันธมิตร นอกจากนั้นแล้ว อังกฤษ ฝรั่งเศส และปากีสถานได้ปฏิเสธที่จะให้การสนับสนุนการดำเนินงานของสหรัฐอเมริกาในสงครามเวียตนาม และประเทศผู้ลงนามอื่น ๆ พยายามออกค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุด ทำให้ภาระในการรักษาความมั่นคงในเอเชียส่วนใหญ่ตกอยู่กับสหรัฐอเมริกา

Alliance : Warsaw Pact

ความเป็นพันธมิตร : กติกาสัญญาวอร์ซอ

สนธิสัญญาการให้ความช่วยเหลือร่วมกันในยุโรปตะวันออกในระยะเวลา 20 ปี ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาโดยกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์เมื่อ ค.ศ. 1955 ภาคีสมาชิกเริ่มแรกของกติกาสัญญาวอร์ซอ ประกอบด้วย แอลเบเนีย บัลแกเรีย เชโกสโลวะเกีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน ฮังการี โปแลนด์โรมาเนีย และสหภาพโซเวียต สนธิสัญญาว่าด้วย "มิตรภาพความร่วมมือ และความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน" ฉบับนี้ได้สร้างเอกภาพในสายการบังคับบัญชาทหารกองทัพต่าง ๆ ของประเทศภาคีสมาชิก 8 ประเทศ โดยมีกองบัญชาการอยู่ที่กรุงมอสโก กำหนดให้ภาคีสมาชิกแต่ละประเทศให้ความช่วยเหลือในทันทีและในทุกวิถีทางที่เห็นว่ามีความจำเป็น รวมทั้งการใช้กำลังรบเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ภาคีสมาชิกใด ๆ ที่ถูกโจมตีในยุโรปตะวันออก

ความสำคัญ กติกาสัญญาวอร์ซอ เป็นปฏิกิริยาของสหภาพโซเวียต ต่อการจัดตั้งสหภาพยุโรปตะวันตก และการตัดสินใจอนุญาตให้เยอรมนีตะวันตกเริ่มมีกำลังรบได้อีก และยอมให้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของนาโตด้วย กติกาสัญญาวอร์ซอนี้ ได้ใช้เป็นรากฐานในการสถาปนาองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (ดับเบิลยูทีโอ) โดยให้มีโครงสร้างทางการทหาร-การเมืองสามารถทำหน้าที่คานอำนาจนาโตได้ เนื้อหาของกติกาสัญญาวอร์ซอนี้ มีถ้อยคำสำนวนเกือบจะเป็นการลอกเลียนแบบบทบัญญัติของสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังมีข้อกำหนดให้ประเทศภาคีสมาชิกกติกาสัญญาวอร์ซอมีพันธกรณีที่จะต้องร่วมกันยืนหยัดปกป้องผลประโยชน์ของสังคมนิยมด้วย อย่างไรก็ดี ว่าโดยพื้นฐานแล้ว กติกาสัญญาวอร์ซอได้สร้างโครงสร้างทางการเมืองและการทหารที่มีการเปลี่ยนแปลงเฉพาะรูปแบบแต่มิได้มีการเปลี่ยนแปลงสารัตถะของนโยบายครองความเป็นใหญ่ของสหภาพโซเวียตในยุโรปตะวันออกแต่อย่างใด นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1962 เป็นต้นมา แอลเบเนียมิได้เข้าร่วมในการตัดสินใจหรือเข้าร่วมการดำเนินการภายใต้กติกาสัญญาวอร์ซอนี้

Limited War

สงครามจำกัด

การขัดแย้งกันด้วยอาวุธ โดยทำการสู้รบกันเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายโดยไม่คำนึงถึงการทำลายศัตรูแบบเบ็ดเสร็จ และให้ศัตรูยอมแพ้โดยปราศจากเงื่อนไข สงครามจำกัดนี้ อาจจะมีการจำกัดในระดับของอานุภาพการทำลายที่ใช้ จำนวนของผู้มีส่วนร่วม ดินแดนที่เกี่ยวข้อง และการใช้ข้อพิจารณาทางการเมืองแทนยุทธศาสตร์ทางทหาร โดยใช้แต่เพียงอย่างเดียวหรือทั้งสองอย่างควบคู่กันไป สถานการณ์ของสงครามจำกัดนี้ อาจมีลักษณะดังต่อไปนี้ (1) เป็นการขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจนิวเคลียร์ ที่แต่ละฝ่ายมิได้ใช้อาวุธทำลายขนาดใหญ่และไม่ทำการโจมตีศูนย์กลางประชาชนของอีกฝ่ายหนึ่ง (2) เป็นการขัดแย้งระหว่างรัฐเล็ก ๆ ที่ไม่มีการแทรกแซงจากมหาอำนาจ (3) เป็นการขัดแย้งระหว่างรัฐเล็ก ๆ ที่ได้รับการช่วยเหลือโดยตรงหรือโดยอ้อมจากมหาอำนาจนิวเคลียร์ ทำการสู้รบกันภายในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่จำกัด และโดยที่มิได้มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์หรืออาวุธปรมาณู (4) เป็นปฏิบัติการทางทหารที่มหาอำนาจนิวเคลียร์ใช้กับรัฐเล็ก ๆ โดยมิได้มีการแทรกแซงจากมหาอำนาจอื่น ๆ (5) เป็นการก่อจลาจลขึ้นภายในประเทศเพื่อต่อต้านมหาอำนาจเจ้าอาณานิคมหรือรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้น โดยที่ทั้งสองฝ่ายใช้อาวุธตามแบบ และได้รับการสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุงหรือด้านกำลังพล หรือทั้งสองประการจากมหาอำนาจนิวเคลียร์ที่เป็นปรปักษ์กัน (6) เป็นการปฏิบัติการร่วมกันของกองกำลังตำรวจ ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อป้องกันการครอบครองดินแดนของรัฐอื่น หรือเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง และ (7) ความเป็นไปได้ทางทฤษฎีของสงครามนิวเคลียร์ที่จำกัดซึ่งมหาอำนาจใช้เพียงอาวุธปรมาณูทางยุทธวิธีต่อเป้าหมายทางทหารที่กำหนดแน่ชัด

ความสำคัญ เมื่อมหาอำนาจมีการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธมหาประลัยชนิดอื่น ๆ ขึ้นมาแล้ว ก็เป็นการบีบบังคับให้การทำสงครามต้องจำกัด ทั้งในแง่ของขอบเขตและในแง่ความเข้มข้น และให้หาทางแก้ไข ปัญหากันด้วยวิธีทางการเมือง ทั้งนี้ก็เพื่อความอยู่รอดของแต่ละฝ่ายนั่นเอง แนวความคิดในเรื่องสงคราม จำกัดในยุคนิวเคลียร์นี้ได้เกิดขึ้นในช่วงที่เกิความขัดแย้งในเกาหลีระหว่างปี ค.ศ. 1950 - 1953 ซึ่งตอนนั้นทั้งกองกำลังของสหรัฐอเมริกา และกองกำลังของจีนคอมมิวนิสต์ มิได้ทำการโจมตีฐานทัพสำคัญของอีกฝ่าย คือของสหรัฐอเมริกาในญี่ปุ่น และของจีนในแมนจูเรีย ในสงครามเวียดนามระหว่างทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1960 สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต และจีนคอมมิวนิสต์ ต่างก็ได้เข้าแทรกแซงเพื่อจะให้ผลของสงครามเกิดประโยชน์แก่ฝ่ายตน กระนั้นก็ตาม แต่ละฝ่ายก็ได้ใช้ความระมัดระวังเพื่อมิให้เกิดการขยายตัวเป็นสงครามขนาดใหญ่ ในสงครามจำกัดนี้ ทั้งสองฝ่ายจะไม่มีโอกาสมีชัยชนะอย่างชัดเจนเหมือนสงครามครั้งก่อน ๆ ทั้งนี้เพราะเมื่อฝ่ายหนึ่งพยายามจะใช้อานุภาพที่ยิ่งใหญ่กว่าเมื่อใดก็จะถูกคานดุลไว้ด้วยการต่อต้านของอีกฝ่ายหนึ่งเมื่อนั้น ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมแพ้จนทำให้ฝ่ายข้าศึกเพิ่มการทำลายออกไปอีก จะขยายตัวออกไปจนถึงจุดที่ทั้งสองฝ่ายพิจารณาเห็นว่า หากมีการใช้อานุภาพที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ก็จะเป็นเหตุให้มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์เข้าประหัตประหารย่อยยับไปทั้งสองฝ่าย ได้มีการศึกษาทางด้านทฤษฎีมากมายเกี่ยวกับลักษณะธรรมชาติและประโยชน์ของสงครามจำกัด

Limited War, Afghan-USSR

สงครามจำกัด, สงครามอัฟกานิสถาน-สหภาพโซเวียต

ความขัดแย้งที่เริ่มขึ้นจากการที่สหภาพโซเวียตได้บุกรุกอัฟกานิสถานเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.1979 จุดมุ่งหมายของการรุกรานครั้งนี้ ก็คือ การจัดตั้งรัฐตามแนวลัทธิมาร์กซิสต์ขึ้นตามแนวพรมแดนของโซเวียตในภูมิภาคทางยุทธศาสตร์ของแถบเอเชียกลางนี้ ผลที่ตามมาจากการรุกรานครั้งนี้ ก็คือ ได้เกิดเป็นสงครามกองโจรยืดเยื้อระหว่างกองกำลังต่อต้านอัฟกาน (มุดจาฮิดดิน) กับกองกำลังโซเวียตซึ่งมีกำลังพลประมาณ 100,000 คน การปฏิบัติการในอัฟกานิสถานคราวนี้ ฝ่ายสหภาพโซเวียตมีนโยบายที่จะมีที่ตั้งกำลังทหารในอ่าวเปอร์เซียและในมหาสมุทรอินเดีย นอกจากนี้แล้ว ฝ่ายโซเวียตก็ยังแสดงท่าทีหวั่นเกรงออกมาว่า การที่คนมุสลิมทำการต่อต้านลัทธิมาร์กซิสต์ในอัฟกานิสถานคราวนี้จะข้ามไปมีอิทธิพลต่อประชาชนชาวมุสลิมจำนวนมากที่อยู่ตามสาธารณรัฐต่างๆในพรมแดนสหภาพโซเวียต ส่วนเหตุการณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวโยงถึงกัน คือ การปฏิวัติของชาวมุสลิมที่ประสบความสำเร็จในประเทศเพื่อนบ้านอิหร่าน และมีการประกาศสถาปนารัฐอิสลามอย่างเป็นทางการขึ้นในปากีสถาน เป็นต้น มีสิ่งบอกเหตุบางอย่างส่อแสดงว่า สหภาพโซเวียตจะประสบความสำเร็จในอัฟกานิสถานได้หากใช้วิธีการแทรกแซงทางทางเศรษฐกิจและการศึกษามากกว่าที่จะใช้แสนยานุภาพทางการทหารเข้าไปแทรกแซง

ความสำคัญ ในยุคใหม่นี้ อัฟกานิสถานเป็นกันชนป้องกันมิให้พระเจ้าซาร์ และต่อมาคือสหภาพโซเวียตมีความทะเยอทะยานแผ่อำนาจเข้ามาทางอ่าวเปอร์เซียและมหาสมุทรอินเดีย การที่โซเวียตเข้ามาตั้งกองทัพอยู่ในอัฟกานิสถานซึ่งอยู่ห่างจากปากอ่าวเปอร์เซียเพียงไม่กี่ร้อยไมล์ ในขณะที่สหรัฐอเมริกากำลังวุ่นวายอยู่กับวิกฤตการณ์ยึดตัวประกันในอิหร่านนั้น ได้นำไปสู่การประกาศของหลักนิยมคาร์เตอร์เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1980 ประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ ได้เตือนสหภาพโซเวียต และต่อมา ประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ก็ได้เห็นด้วยกับคำประกาศนี้ว่า ความพยายามจากภายนอกใดๆในอันที่จะควบคุมอ่าวเปอร์เซียจะเป็นการคุกคามต่อผลประโยชน์อันสำคัญอย่างยิ่งยวดของสหรัฐอเมริกา และว่า สหรัฐอเมริกาจะต่อต้านภัยคุกคามนั้นด้วยการใช้กำลังทหารหากมีความจำเป็น แนววิธีการเผชิญหน้าโดยตรงระหว่างสองอภิมหาอำนาจจึงเป็นที่กระจ่างชัด ความพยายามทั้งปวงทั้งในระดับระหว่างประเทศและในระดับประเทศที่สามเพื่อจะยุติสงครามจึงไม่ประสบความสำเร็จ

Limited War : Falklands

สงครามจำกัด : สงครามฟอล์กแลนด์

สงครามจำกัดระหว่างอาร์เจนตินากับอังกฤษ เมื่อเดือนเมษายน - มิถุนายน ค.ศ. 1982 ที่มาของสงคราม คือ ปัญหาเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ซึ่งในแถบละตินอเมริกาเรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า มัลวินัส หมู่เกาะฟอล์กแลนด์นี้อยู่นอกฝั่งออกไปประมาณ 300 ไมล์ ฝ่ายอาร์เจนตินาอ้างดินแดนนี้ซึ่งมีพื้นที่รวมกันแล้วประมาณ 4,700 ตารางไมล์ และมีประชากรประมาณ1,800 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายอังกฤษนี้ ว่าเป็นดินแดนของตนเนื่องจากตนได้สืบทอดอำนาจจากสเปนหลังจากได้เอกราชมาจากสเปนมาเมื่อ ค.ศ. 1916 ทว่าหมู่เกาะฟอล์กแลนด์นี้เป็นดินแดนขึ้นอยู่กับอังกฤษมาตั้งแต่ ค.ศ. 1833 และผู้คนที่อาศัยอยู่ในหมู่เกาะเหล่านี้ต่างก็แสดงเจตจำนงอยากจะอยู่ในความปกครองของอังกฤษต่อไป เมื่อการเจรจาที่ยืดเยื้อได้ล้มเหลวลง ฝ่ายอาร์เจนตินาจึงได้หันไปใช้กำลังทหาร

ความสำคัญ สงครามฟอล์กแลนด์ มีลักษณะเหมือนกับสงครามอื่น ๆ ที่เป็นผลมาจากความผิดพลาดอย่างมาก ในการวิเคราะห์ขีดความสามารถ และการวิเคราะห์องค์ประกอบทางสถานการณ์ต่าง ๆ ฝ่ายอาร์เจนตินาได้ตั้งข้อสมมติฐานไว้ว่า อังกฤษคงจะไม่สามารถตอบโต้ด้วยการใช้กำลังมากมายได้ เนื่องจากหมู่เกาะฟอล์กแลนด์นี้อยู่ไกลจากอังกฤษมาก และรัฐบาลอาร์เจนตินาเอง ก็ต้องการใช้สงครามฟอล์กแลนด์นี้เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนชาวอาร์เจนตินาจากปัญหาทางการเมืองภายใน ปัญหาทางสังคม และปัญหาทางเศรษฐกิจที่กำลังรุมเร้าอยู่ในขณะนั้น ความพยายามที่จะทำการไกล่เกลี่ย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา นายอเล็กซานเดอร์ เฮก และเลขาธิการสหประชาชาติ นายฮาเวียร์ เปเรซ เดอ เคอญ่า ไม่ประสบความสำเร็จ นับแต่สงครามครั้งนี้ยุติลงแล้วสมัชชาใหญ่ได้เรียกร้องให้มีการรื้อฟื้นการเจรจากันใหม่ แต่ก็มิได้มีการตอบสนองอย่างจริงจัง

Limited War, Iran - Iraq

สงครามจำกัด, สงครามอิหร่าน-อิรัก

การสู้รบระหว่างอิหร่านกับอิรักนับแต่ปี ค.ศ. 1980 สงครามครั้งนี้เป็นสงครามมหาวินาศ สร้างความสูญเสียให้แก่ประชาชนถึง 1 ล้านคนโดยประมาณ เป็นบทล่าสุดในประวัติศาสตร์อันยาวนานของการต่อสู้ระหว่างสองรัฐนี้ สาเหตุสำคัญของการสู้รบครั้งนี้ก็ได้แก่ การแย่งชิงดินแดน ต้องการควบคุมเส้นทางเดินเรือ ชัตต์ อัล - อาหรับสู่อ่าวเปอร์เซีย ความแตกต่างทางศาสนาอิสลามระหว่างมุสลิมนิกายชิอะห์กับมุสลิมนิกายซุนหนี่ และการแย่งชิงเพื่อครองความเป็นใหญ่ในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย

ความสำคัญ สงครามอิหร่าน - อิรักคราวนี้ นอกจากจะสร้างความสูญเสียให้แก่มวลมนุษย์แล้ว ก็ยังเป็น สงครามที่สร้างความวิตกกังวลไปทั่วโลก ทั้งนี้เพราะพื้นที่ที่ขัดแย้งกันนี้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์และมี ทรัพยากรน้ำมันอย่างมหาศาล สงครามครั้งนี้มีพื้นฐานมาจากการผิดพลาดในการประเมินขีดความสามารถและองค์ประกอบทางสถานการณ์ตั้งแต่เริ่มแรก ทางฝ่ายอิรักเห็นว่าอิหร่านกำลังวุ่นวายอยู่กับการ ปฏิวัติตนคงจะมีชัยชนะได้อย่างรวดเร็วแน่ ๆ จึงได้เริ่มโจมตีทางอากาศเมื่อวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1980 สงครามคราวนี้ได้สร้างความสูญเสียทางด้านชีวิตมนุษย์และทางด้านเศรษฐกิจมากมาย แต่สถานการณ์การสู้รบกลับถึงมุมอับ โดยที่ฝ่ายอิรักได้เปรียบทางอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมทั้งมีการใช้อาวุธเคมีในการทำสงครามด้วย ส่วนฝ่ายอิหร่านนั้นได้เปรียบทางด้านกำลังพล แม้ว่าสหประชาชาติและรัฐมุสลิมต่าง ๆ จะพยายามให้มีการหยุดยิง แต่ก็ประสบกับความล้มเหลว ในขณะเดียวกัน อันตรายจากการขยายตัวของสงครามกลับมากยิ่งขึ้นไปอีก จากการที่ทั้งสองฝ่ายได้ทำการโจมตีการขนส่งทางเรือในอ่าวเปอร์เซียของ
รัฐที่สาม สหรัฐอเมริกามีนโยบายเป็นกลางในสงครามคราวนี้ แต่ก็มีความวิตกกังวลกับการคุกคามต่อเสรีภาพการเดินเรือในอ่าวเปอร์เซีย เหตุผลอย่างหนึ่งที่ให้เกิดความวิตกกังวลก็เพราะอิรักได้โจมตีเรือรบสหรัฐฯ ชื่อ สตาร์ก เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1987 ยังผลให้ลูกเรือสหรัฐฯ เสียชีวิตถึง 37 นาย นอกจากจะสนใจในการทำสงครามแล้ว ฝ่ายสหรัฐอเมริกาและฝ่ายสหภาพโซเวียต ได้คอยเฝ้าตรวจกองกำลังของกันและกันที่จะเข้ามาอยู่ในบริเวณน่านน้ำที่แคบแห่งนี้ที่เส้นทางลำเลียงน้ำมันของประเทศตะวันตกจำเป็นต้องผ่าน ถึงแม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะดำเนินนโยบายเป็นกลาง แต่ก็ได้ขายอาวุธอย่างลับ ๆ ให้แก่อิหร่าน ผลกำไรจากการขายอาวุธครั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีเรแกน ได้ให้เจ้าหน้าที่หันเหียนนำไปช่วยเหลือพวกกบฎคอนทราในนิคารากัวอีกต่อหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้ได้กลายเป็นปัญหาทางการเมืองในสหรัฐฯในเวลาต่อมา

Nuclear Strategy : Balance of Terror

ยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ : ดุลการคุกคาม

ดุลยภาพแห่งอำนาจระหว่างสองรัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์ อันสืบเนื่องมาจากกลัวความพินาศย่อยยับที่จะเกิดขึ้นระหว่างกันในสงครามนิวเคลียร์ ดุลการคุกคามระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตนี้ มีพื้นฐานมาจากการที่ทั้งสองฝ่ายต่างเข้าใจว่า แต่ละฝ่ายมีระบบปล่อยอาวุธนิวเคลียร์หลากหลายแบบที่ทรงอานุภาพในทางทำลายล้างได้อย่างมหาศาล ที่จะไม่สามารถใช้ปฏิบัติการป้องกันมิให้อาวุธเหล่านี้ทำลายบริเวณศูนย์กลางย่านชุมชนของกันและกันได้ เนื่องจากได้รู้ว่าการโจมตีอย่างไม่รู้ตัวก่อนจะไม่สามารถทำลายการป้องกันและขีดความสามารถในการทำลายที่แผ่กระจายออกไปหลายแห่งของอีกฝ่ายหนึ่งได้เลยนี้ เป็นตัวการช่วยเสริมให้เกิดการป้องปรามที่สืบเนื่องมาจากดุลการคุกคาม ยุทธศาสตร์ดุลการคุกคามที่สามารถทำลายในระยะไกลนี้ มีแนวโน้มว่าจะทำให้เกิดความกลัวมากขึ้นแทนที่จะไปเปลี่ยนแปลงความพยายามของทั้งสองฝ่ายที่จะผลิตอาวุธที่มีอานุภาพในการทำลายล้างมากยิ่งขึ้น และจะผลิตระบบปล่อยอาวุธนิวเคลียร์ที่มีความแม่นยำเชื่อถือได้มากยิ่งขึ้นด้วย ในปัจจุบันทั้งสองอภิมหาอำนาจมีหัวรบนิวเคลียร์มีจำนวนรวมกันแล้วก็ประมาณ 60,000 หัว พร้อมกับมีระบบปล่อยหัวรบนิวเคลียร์หลากหลายรูปแบบ เช่น เครื่องบินทิ้งระเบิด อาวุธปล่อย เรือดำน้ำ และเรือรบบนผิวน้ำ ดุลการคุกคามนี้มีพื้นฐานจากหลักนิยมความแน่ใจในการทำลายร่วมกัน (แมด)

ความสำคัญ การมีอาวุธที่ทรงอานุภาพในการทำลายล้างร้ายแรงไว้ในคลังแสงจำนวนมาก ๆ เป็นหลักการสำคัญของดุลการคุกคามนี้ ได้ช่วยขจัดโอกาสมิให้ชาติใด ๆ ใช้สงครามเบ็ดเสร็จเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายของรัฐ แต่ก็เป็นการเพิ่มอันตรายอาจทำให้เกิดสงครามโดยมิได้ตั้งใจ (สงครามอุบัติเหตุ)ขึ้นมาได้ ดุลการคุกคามในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงใหม่ ๆ เป็นแบบที่มีพื้นฐานจากอาวุธปรมาณู ได้มีการพัฒนาระเบิดและหัวรบเทอร์โมนิวเคลียร์ที่มีอานุภาพในการทำลายล้างมากกว่าระเบิดปรมาณูที่ทิ้งลงที่เมืองฮิโรชิมาประเทศญี่ปุ่นหลายพันเท่า จึงนับได้ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ทำให้การทำสงครามกลายเป็นเครื่องมือที่ไม่น่าพิศมัยที่จะนำมาใช้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองของรัฐ การได้เปรียบโดยการเปรียบเทียบกำลังอำนาจที่ได้มาจากการแข่งขันในการสะสมอาวุธนี้ มิได้เอื้อประโยชน์ที่สำคัญอีกต่อไป เป็นแต่เพียงการเพิ่มศักยภาพในการประหัตประหารให้มากเกินความต้องการยิ่งขึ้นเท่านั้นเอง ซึ่งมิได้เปลี่ยนแปลงดุลการคุกคามนี้แต่อย่างไร การพัฒนาการป้องกันเพื่อใช้ต่อต้านระบบปล่อยที่สมบูรณ์ (ซึ่งไม่น่าที่นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญทางทหารจะสามารถทำได้) จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในดุลการคุกคามนี้ได้และเพิ่มอันตรายของสงครามมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ได้ริเริ่มโครงการป้องกันทางยุทธศาสตร์(เอสไอดี)หรือ "สตาร์ วอว์" ขึ้นมา ซึ่งเป็นความพยายามที่จะพัฒนาโล่ป้องกันที่แข็งแกร่งสำหรับใช้ทำลายอาวุธปล่อยจากฝ่ายศัตรูที่จะผ่านเข้ามา อย่างไรก็ดี ภัยคุกคามจากอันตรายที่สามารถสร้างความพินาศย่อยยับทั้งสองฝ่าย มิได้ช่วยป้องกันมิให้เกิดสงครามจำกัด อย่างเช่น สงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม เป็นต้น แต่เป็นการไปจำกัดในวิธีการและวัตถุประสงค์ของผู้มีส่วนร่วมในสงครามนั้น

Nuclear Strategy : Deterrence

ยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ : การป้องปราม

กิจกรรมต่าง ๆ ที่รัฐใดรัฐหนึ่งหรือกลุ่มรัฐใดรัฐหนึ่งนำมาปฏิบัติเพื่อป้องปรามรัฐอื่นจากการดำเนินนโยบายที่ไม่พึงประสงค์ของรัฐหรือกลุ่มรัฐผู้ทำการป้องปราม การป้องปรามนี้เป็นยุทธศาสตร์การข่มขู่ว่าจะทำการลงโทษหรือจะปฏิเสธ เพื่อชักจูงให้อีกฝ่ายเกิดความเชื่อว่า การกระทำที่คาดว่าจะเกิดขึ้นนั้นจะมีผลเสียมากกว่าผลดี วิธีการที่รัฐต่าง ๆ ใช้ในการดำเนินป้องปรามนี้ ได้แก่ การเพิ่มขีดความสามารถทางการทหารโดยทั่ว ๆ ไป การพัฒนาอาวุธที่มีอานุภาพในการทำลายร้ายแรงมาก ๆ การลงนามในสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรกับรัฐอื่น และการแสดงว่าจะทำการตอบโต้ เป็นต้น แต่ถ้าจะให้การป้องปรามนี้มีประสิทธิผลจริง ๆ ภัยคุกคามที่จะป้องปรามนี้จะต้องทำให้เกิดความเชื่อถืออย่างเต็มที่ต่อกลุ่มเป้าหมายที่ใช้กำหนดแนวทางดำเนินการ

ความสำคัญ ทั้งวิธีการดุลอำนาจ และวิธีการสร้างความมั่นคงร่วมกันเพื่อให้เกิดสันติภาพ ต่างก็ถูกสร้างขึ้นมาจากแนวความคิดในการป้องปรามนี้เอง กล่าวคือ ในกรณีแรก ผู้มีศักยภาพสามารถจะก่อสงครามขึ้นมานั้นจะเกรงขามว่าจะถูกกลุ่มทหารฝ่ายปรปักษ์ในระบบดุลอำนาจร่วมกันปฏิบัติการตอบโต้ หรือในกรณีที่สองก็จะขยาดจากการปฏิบัติการตอบโต้ของกำลังตำรวจร่วมของประชาคมระหว่างประเทศ เมื่อทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ได้พัฒนาอานุภาพในการโจมตีนิวเคลียร์โดยไม่มีฝ่ายใดเหนือกว่ากัน (ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าแมด หรือความเชื่อถือในการทำลายร่วมกัน) ถือได้ว่าเป็นการสร้างระบบป้องปรามร่วมกันทั้งสองฝ่ายที่เกือบจะสมบูรณ์แบบ ทั้งนี้เพราะจะไม่มีฝ่ายใดสามารถโจมตีอีกฝ่ายโดยที่ฝ่ายตนปราศจากความสูญเสียและถูกทำลายไปได้ กุญแจสำคัญของการป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ จึงอยู่ที่การเพิ่มความแข็งแรงและกระจายระบบการปล่อยอาวุธนิวเคลียร์ไปไว้ตามที่ต่าง ๆ เสริมสร้างขีดความสามารถในการตอบโต้ของฝ่ายตน คือ ถึงจะถูกอีกฝ่ายโจมตีก่อนอย่างไม่รู้ตัวก็สามารอยู่รอดและโจมตีตอบโต้ได้อย่างหนักหน่วงรุนแรง ระยะห่างของอาวุธนิวเคลียร์ ท่านเปรียบไว้ว่าเหมือนสถานการณ์ที่แมลงป่องสองตัวอยู่ในขวดเดียวกัน แมลงป่องแต่ละตัวต่างมีขีดความสามารถที่จะใช้เหล็กไนต่อยอีกฝ่ายหนึ่งให้ตายได้ แต่ในขณะเดียวกันตัวมันเองก็จะถูกต่อยตายอีกเหมือนกัน อย่างไรก็ดี การป้องปรามร่วมกัน อาจเปลี่ยนแปลงได้เมื่ออีกฝ่ายได้พัฒนาอาวุธเชิงรุกหรือเชิงรับขึ้นมาใหม่ หรือเมื่อเกิดสงครามที่ไม่คาดคิดหรือสงครามอุบัติเหตุขึ้นมาเนื่องจากความผิดพลาดของมนุษย์หรือความล้มเหลวทางเทคนิค ซึ่งมันก็จะทำลายระบบที่มีเสถียรภาพพร้อมกับผู้ที่มีส่วนร่วมในระบบนี้ด้วย

Nuclear Strategy : First Strike

ยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ : การโจมตีครั้งแรก

ยุทธศาสตร์ในการใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีอย่างไม่รู้ตัว เพื่อทำลายหรือทำให้ศัตรูหมดสมรรถภาพอย่างสิ้นเชิงในการโจมตีโต้กลับ ทฤษฎีการโจมตีครั้งแรกนี้ มีสมมติฐานว่าฝ่ายหนึ่งสามารถยิงหรือส่งอาวุธนิวเคลียร์ที่มีขนาดเพียงพอที่จะโจมตีอีกฝ่ายหนึ่งอย่างถล่มทลายราบคาบจนถึงขั้นที่สามารถชนะสงครามนิวเคลียร์ได้ ก่อนที่ฝ่ายศัตรูจะสามารถฟื้นตัวจากการโจมตีนี้ รัฐที่ทำการโจมตีครั้งแรกนี้จะมีขีดความสามารถมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ที่มีอยู่ในคลังแสงของตนและระบบที่จะใช้ปล่อยหรือยิงอาวุธนิวเคลียร์นั้นด้วย แต่การโจมตีครั้งแรกนี้ถูกจำกัดโดยศักยภาพในการโจมตีครั้งที่สอง หรือขีดความสามารถในการโจมตีโต้กลับของฝ่ายศัตรูนั้นด้วย

ความสำคัญ ความมั่นคงแห่งชาติที่จะพ้นจากการโจมตีในยุคนิวเคลียร์นี้จะมีมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของอำนาจการโจมตีโต้กลับเพื่อป้องปรามการโจมตีครั้งแรกนั้น โดยเชื่อว่าสามารถทำการโจมตีตอบโต้กลับไปด้วยอาวุนิวเคลียร์ขนาดหนักได้อย่างแน่นอน หากขีดความสามารถที่จะโจมตีกลับขนาดหนักไม่สามารถเชื่อถือได้ มหาอำนาจนิวเคลียร์นั้น ๆ ก็จะอยู่ในฐานะล่อแหลมและมีจุดอ่อนอย่างยิ่งเพื่อจะมิให้ถูกทำลายจากขีดความสามารถในการโจมตีครั้งที่สองนี้ ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตก็ได้ใช้วิธีการต่าง ๆ คือ มีการเก็บอาวุธปล่อยข้ามทวีปที่จะใช้ยิงหัวรบนิวเคลียร์ไว้ในที่เก็บที่มิดชิดแข็งแรงยากแก่การตรวจจับของฝ่ายศัตรู กระจายระบบส่งหรือยิงอาวุธนิวเคลียร์โดยนำอุปกรณ์ยิงอาวุธปล่อยที่ติดหัวรบแบบหลายหัวไปติดตั้งไว้ในเรือดำน้ำที่อยู่ตามที่ต่าง ๆ และเอาอาวุธนิวเคลียร์ติดตั้งไว้ในเครื่องบินทิ้งระเบิดแล้วให้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนบินอยู่ในอากาศตลอดเวลา นอกจากจะหาทางคุ้มครองอาวุธนิวเคลียร์เหล่านี้แล้ว ทั้งสองชาติอภิมหาอำนาจนี้ก็ยังได้พยายามที่จะพัฒนาระบบต่อต้านขีปนาวุธ (เอบีเอ็ม) เพื่อใช้ป้องกันการโจมตีครั้งแรก โดยหามาตรการมาป้องกันอาวุธปล่อยที่ยิงเข้ามา หรือที่มาโดยระบบอื่น อย่างไรก็ดี หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าตนมีระบบป้องกันที่มีประสิทธิภาพแล้ว ก็อาจจะไปกระตุ้นให้ยอมเสี่ยงทำการโจมตีครั้งแรกนั้นก็ได้ หรือว่าในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าอีกฝ่ายกำลังวางแผนในการโจมตีในไม่ช้า ก็อาจจะถือโอกาสโจมตีครั้งแรกตัดหน้าฝ่ายศัตรูเสียเลยก็ได้

Nuclear Strategy : Massive Retaliation

ยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ : การระดมโจมตีโต้กลับอย่างรุนแรง

การข่มขู่ว่าจะทำการโต้ตอบด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งนี้เพื่อยับยั้งปฏิบัติการของรัฐอื่น หลังสงครามเกาหลี รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี ดไวท์ ดี. ไอเซนฮาว ได้ใช้นโยบายระดมโจมตีโต้กลับนี้กับการคุกคามของสงครามจำกัดหรือสงครามย่อย ๆ ซึ่งก่อขึ้นมาโดยฝ่ายคอมมิวนิสต์ นโยบายที่ว่านี้มีวัตถุประสงค์ที่จะป้องกันสงครามดังกล่าวมิให้เกิดขึ้น โดยได้ประกาศเป็นการล่วงหน้าว่า สหรัฐอเมริกามีสิทธิ์ที่จะเผชิญกับการรุกรานแบบใหม่โดยไม่จำเป็นว่าจะเฉพาะจุดที่เกิดขึ้นนั้น ด้วยการใช้มาตรการ "ตอบโต้ที่มีความรุนแรงในทุกสถานที่และทุกเวลา"ตามแต่จะพิจารณาเห็นสมควร แนวความคิดเรื่องการโจมตีโต้กลับด้วยความรุนแรงนี้ เป็นหลักสำคัญในนโยบายป้องปรามของทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตในปัจจุบัน คือ ทั้งสองฝ่ายต่างยอมรับในบทตั้งที่ว่า ไม่มีฝ่ายใดสามารถทำลายขีดความสามารถในการโจมตีโต้กลับของอีกฝ่ายโดยการโจมตีฉับพลันในครั้งแรกนั้นได้ และอีกฝ่ายจะทำการโจมตีโต้กลับอย่างรุนแรงในเวลาต่อมา

ความสำคัญ นโยบายการโจมตีโต้กลับด้วยความรุนแรงที่รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี ดไวท์ ดี. ไอเซนฮาว นี้ตามรายงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ นายจอห์น ฟอสเตอร์ ดัลลัส ว่าเกือบจะทำให้สหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตทำสงครามนิวเคลียร์กัน หลายครั้งในช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1950 ในแต่ละครั้ง นายดัลลัส บอกว่า ฝ่ายสหภาพโซเวียตเป็นฝ่ายอ่อนข้อให้ทุกทีไป แต่พอครั้นสหภาพโซเวียตได้พัฒนาอำนาจการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์พิสัยไกลของตนเองได้สำเร็จแล้ว ภัยคุกคามของสหรัฐอเมริกาก็ได้สูญเสียความน่าเชื่อถือไป ผลที่ตามมาก็คือ ทั้งรัฐบาลของประธานาธิบดีเคนเนดี และรัฐบาลของประธานาธิบดีจอห์นสัน ได้ใช้นโยบายสร้าง "พลังสมดุล"ขึ้นมาเพื่อใช้ตอบโต้การรุกรานโดยผ่านทางระบบที่เรียกว่า "เพิ่มการป้องปราม" ซึ่งจะใช้กำลังในระดับที่จำเป็นกับภัยคุกคามหรือปฏิบัติการรุกรานนั้น ๆ โดยเฉพาะ เมื่อสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตได้พัฒนาที่ตั้งอาวุธปล่อยที่แข็งแรง ฐานยิงจากเรือดำน้ำ และกำลังทางนิวเคลียร์อย่างอื่นที่จะทำให้สามารถรอดพ้นอันตรายจากการโจมตีอย่างไม่รู้ตัวในครั้งแรกนั้นได้ จึงเกิดดุลยภาพแห่งอำนาจ โดยอิงอยู่บนพื้นฐานที่ว่า แต่ละฝ่ายมีขีดความสามารถที่จะทำการโจมตีโต้กลับอย่างรุนแรงได้พอ ๆกัน ต่อมาเมื่อรัฐบาลของประธานาธิบดีเรแกนได้พัฒนาโครงการป้องกันทางยุทธศาสตร์(เอสดีไอ) หรือนโยบาย "สตาร์วอร์" ก็โดยที่มีจุดมุ่งหมายที่จะติดตั้งฉากกำบังแสงเลเซอร์และอาวุธลำแสงอนุภาค ที่คาดว่าสามารถยิงขึ้นไปทำลายอาวุธปล่อยของรัสเซียเสียก่อนที่มันจะถึงเป้าหมายในสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดี มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่า ระบบป้องกันเอสดีไอนี้เป็นไปไม่ได้ทั้งในแง่วิทยาศาสตร์และในแง่เทคนิค เมื่อเป็นเช่นนี้ วิธีการคุกคามข่มขู่กันว่าจะใช้การโจมตีโต้ตอบอย่างรุนแรงนี้ ก็คงจะยังเป็นปัจจัยในการป้องปรามที่สำคัญในนโยบายของสองอภิมหาอำนาจอีกหลายปีเลยทีเดียว

Nuclear Strategy : Preemptive Strike

ยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ : การชิงโจมตีตัดหน้า

การโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ครั้งแรก โดยมีสมมติฐานว่า รัฐศัตรูกำลังวางแผนที่จะโจมตีตนด้วยนิวเคลียร์ในไม่ช้านี้ แนวความคิดในการโจมตีตัดหน้ากันนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นมา โดยเจ้าหน้าที่ยุทธวิธีทหารของสหภาพโซเวียตในช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1950 เพื่อใช้เป็นมาตรการป้องกัน โดยให้ศัตรูเปลี่ยนสถานะจากที่จะเป็นฝ่ายโจมตีครั้งแรกให้กลายเป็นผู้โจมตีโต้กลับที่มีอันตรายน้อยกว่า การชิงโจมตีตัดหน้านี้มีเป้าหมายเพื่อชิงความได้เปรียบจากการโจมตีอย่างไม่รู้ตัว โดยที่กำลังอำนาจของรัฐที่เป็นฝ่ายรุกยังไม่ทันเสียหาย การโจมตีแบบนี้ซึ่งมีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษอีกอย่างว่า "spoiling” หรือ "blunting” attack(แปลว่า การทำลายการโจมตี) จะนำมาใช้หลังจากที่ผู้นำรัฐได้รับรายงานข้อมูลทางข่าวกรองเป็นที่แน่ชัดว่า รัฐศัตรูกำลังเตรียมการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อทำการโจมตีอยู่

ความสำคัญ แนวความคิดในเรื่องการชิงโจมตีตัดหน้ากันนี้ มีวิวัฒนาการขึ้นมาในช่วงที่มีการพิจารณาเวลาที่จำเป็นต้องใช้เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่เครื่องบินทิ้งระเบิดและการเติมเชื้อเพลิงเหลวให้แก่จรวดที่จะใช้เพื่อประกอบเป็นกำลังโจมตีหลักของรัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์ ก็จะต้องใช้เวลานานพอสมควร แต่ต่อมาเมื่อได้มีการพัฒนาเป็นสงครามกดปุ่มและด้วยการใช้วิธีปล่อยขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ข้ามทวีปด้วยเชื้อเพลิงแข็ง หมายถึงว่า การโจมตีกันด้วยอาวุธนิวเคลียร์นี้สามารถกระทำได้อย่างรวดเร็วมากจนเหยื่อเป้าหมายที่จะถูกโจมตีเตรียมการอะไรไม่ทัน ยิ่งไปกว่านั้น การที่ได้มีการกระจายระบบส่งหรือระบบยิงอาวุธนิวเคลียร์ไปไว้ตามที่ต่าง ๆ และมีการดำเนินขั้นตอนหลายอย่างเพื่อป้องกันอาวุธนิวเคลียร์เหล่านั้นจากการถูกทำลายโดยถูกโจมตีอย่างไม่รู้ตัว ก็จะทำให้รัฐที่ถูกโจมตีซึ่งแม้จะมีสภาพยับเยินอย่างไรก็จะสามารถทำการโจมตีโต้กลับรัฐที่โจมตีครั้งแรกนั้นได้ นักวิเคราะห์ทางทหารยังพบว่า การโจมตีแบบชิงตัดหน้านี้อาจเกิดขึ้นได้จากความผิดพลาดทางข้อมูลข่าวกรอง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ มาตรการป้องกันต่าง ๆ ที่แต่ละฝ่ายดำเนินการเพื่อป้องกันตนเองจากการถูกโจมตีอย่างไม่รู้ตัวจากอีกฝ่ายนั้น ก็อาจจะถูกตีความว่าเป็นการเตรียมการโจมตีก็ได้ เมื่อได้มีการพัฒนาในทางเทคโนโลยีนิวเคลียร์อย่างเช่นทุกวันนี้ ก็เป็นการปิดโอกาสที่จะใช้การโจมตีตัดหน้านี้เป็นเครื่องมือที่มีเหตุผลและเชื่อถือยอมรับได้ในการดำเนินนโยบายทางการทหาร

Peace Policy : Armistice

นโยบายสันติภาพ : การสงบศึก

การยุติการรบเป็นการชั่วคราวซึ่งตกลงกันโดยคู่สงคราม การสงบศึกบางทีในภาษาอังกฤษเรียกว่า "truce" นี้อาจจะเป็นการสงบศึกโดยทั่ว ๆ ไป หรืออาจจะใช้กับพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งโดยเฉพาะก็ได้กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้ว่าการสงบศึกมิได้ส่งผลกระทบต่อสถานภาพทางกฎหมายของสงครามซึ่งสงครามอาจจะดำเนินอยู่ต่อไปในทุก ๆ ด้าน เว้นเสียแต่ด้านที่กำหนดไว้ในข้อตกลงสงบศึกนั้นก็ได้

ความสำคัญ การสงบศึกนี้ อาจกำหนดให้ยุติการสู้รบไว้เป็นการชั่วคราวเพื่อเปิดโอกาสให้มีการเจรจาสันติภาพระหว่างคู่สงคราม หรือเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่สามหรือให้องค์การระหว่างประเทศเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย ยกตัวอย่างเช่น ในสงครามอาหรับ - อิสราเอลระหว่างปี ค.ศ. 1948 – 1949 ปี ค.ศ.1956 ปี ค.ศ.1967 และปี ค.ศ. 1973 ได้มีข้อตกลงสงบศึกเพื่อให้ยุติการสู้รบกันหลายครั้ง และในแต่ละครั้งก็จะตามมาด้วยความพยายามอย่างมากแต่ไม่ประสบความสำเร็จของสหประชาชาติที่เข้ามาไกล่เกลี่ยเพื่อให้มีการแก้ไขกรณีพิพาทด้วยสันติวิธีอย่างถาวร ข้อตกลงสงบศึกนี้ อาจใช้เป็นวิธีสำหรับยุติการสู้รบก่อนที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะพ่ายแพ้อย่างราบคาบ หรือถูกบังคับให้ยอมแพ้โดยปราศจากเงื่อนไข ยกตัวอย่างเช่น ในสงครามโลกครั้งที่ 1 เยอรมนีได้ยอมรับในข้อตกลงสงบศึก เพื่อให้มีการพิจารณาถึงเรื่องการยอมแพ้ก่อนที่กองทัพเยอรมันจะพินาศและแผ่นดินเยอรมันถูกบุกเข้าไปยึดครอง

Peace Policy : Japanese Constitution, Article Nine

นโยบายสันติภาพ : รัฐธรรมนูญญี่ปุ่น, มาตรา 9

มาตรา 9 ในรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น ฉบับปี ค.ศ. 1947 ได้กำหนดให้ญี่ปุ่น "เลิกใช้การทำสงครามเป็นสิทธิในความมีอธิปไตยของชาติ และเลิกใช้การคุกคามหรือการใช้กำลังเพื่อเป็นวิธีการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศตลอดไป" นอกจากนี้แล้ว มาตรา 9 นี้ก็ยังได้กำหนดไว้ด้วยว่า ในการที่จะให้อุดมคติในการสร้างสันติภาพถาวรนี้เป็นจริงขึ้นมาได้นั้น "กองกำลังทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ตลอดจนศักยภาพทางสงครามอื่น ๆ จะต้องไม่ให้มีอีกต่อไป” รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นฉบับนี้ เขียนขึ้นมาภายใต้การกำกับโดยตรงของกองกำลังยึดครองของสหรัฐฯ ที่บัญชาการโดย พลเอกดัลลาส แมคอาร์เธอร์

ความสำคัญ รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นฉบับนี้ได้รับการเห็นชอบจากพลเอก แมคอาร์เธอร์ ก่อนที่จะเกิดสงครามเย็นและก่อนที่จะมีการประกาศลัทธิ "การปิดกั้น" ของสหรัฐอเมริกา นับแต่นั้นมา สหรัฐอเมริกาก็ได้สนับสนุนให้ญี่ปุ่นติดอาวุธเพื่อป้องกันตนเอง ถึงแม้ว่าชาวญี่ปุ่นยังยึดพื้นฐานการต่อต้านสงครามอยู่ในปรัชญาชาติของตน แต่ก็ได้เข้าร่วมกับสหรัฐอเมริกาในสนธิสัญญาความมั่นคงแบบทวิภาคี มีการตั้งกองกำลังตำรวจแห่งชาติ และตั้งหน่วยงานป้องกันตนเอง ประกอบด้วยกองกำลังป้องกันตนเองทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ มาตรา 9 นี้ได้ถูกตีความโดยรัฐบาลญี่ปุ่นคณะต่าง ๆ ในระยะต่อมา ว่าเป็นการห้ามมิให้มีการติดอาวุธเชิงรุกแต่สามารถติดอาวุธเชิงรับได้

Peace Policy : Kellogg-Briand Pact

นโยบายสันติภาพ : กติกาสัญญาเคลลอกก์ - บริอังด์

เป็นสนธิสัญญาแบบทั่ว ๆ ไป ซึ่งลงนามกันเมื่อปี ค.ศ. 1928 และเกือบจะทุกชาติได้ให้สัตยาบัน เป็นสนธิสัญญาที่ต้องการให้ถือว่าการใช้สงครามเป็นเครื่องมือของนโยบายแห่งชาตินั้นเป็นการผิดกฎหมาย ชื่อเป็นทางการของสนธิสัญญานี้ ก็คือ "สนธิสัญญาทั่วไปว่าด้วยการงดเว้นการทำสงคราม" หรือเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า "กติกาสัญญากรุงปารีส" ผู้ร่างสนธิสัญญาฉบับนี้ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ นายแฟรงก์ บี. เคลลอกก์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศศ นายอครีดิด บริอังด์ มีมาตราสำคัญอยู่ 2 มาตรา คือ มาตราแรก กำหนดให้ประเทศผู้ลงนามในกติกาสัญญานี้ประณามการใช้สงครามเพื่อแก้ไขความขัดแย้งระหว่างประเทศ และให้เลิกใช้สงครามเป็นเครื่องมือของนโยบายแห่งชาติในความสัมพันธ์กับรัฐอื่น " และมาตราที่ 2 ก็มีข้อกำหนดไว้ว่า "การแก้ไข หรือการขจัดข้อพิพาทหรือความขัดแย้งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะมีลักษณะใด หรือมีต้นกำเนิดมาจากอะไร...จะต้องไม่ทำโดยวิธีอื่นนอกเสียจากโดยวิธีสันติวิธี" อย่างไรก็ดี ในการให้สัตยาบันกติกาสัญญานี้ มีหลายชาติได้พ่วงข้อสงวนสิทธิ์ของตนไว้ว่าให้หมายถึงเฉพาะปฏิบัติการทางทหารในเชิงรุกเท่านั้น มิได้หมายรวมถึงปฏิบัติการทางทหารในเชิงรับ ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาได้กำหนดไว้ในข้อสงวนสิทธิ์ของตนว่า กติกาสัญญานี้มิได้ทำลายสิทธิ์ของการป้องกันตนเอง รวมถึงนำหลักนิยมมอนโรมาใช้บังคับ และทั้งมิได้ผูกมัดให้ชาติใด ๆ ต้องร่วมลงโทษต่อผู้รุกรานด้วย

ความสำคัญ กติกาสัญญาเคลลอกก์ - บริอังด์นี้ เป็นหนึ่งในความพยายามที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ระบบรักษาสันติภาพของสันนิบาตชาติใน 2 วิธีด้วยกัน คือ (1) เป็นการให้โอกาสแก่สหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่ยอมเข้าร่วมในสันนิบาตชาติได้มีส่วนร่วมในการประณามการทำสงครามด้วย และ(2) เป็นการอุดช่องว่างในระบบความมั่นคงของสันนิบาตชาติที่ในกติกาสันนิบาตชาติได้อนุญาตให้รัฐต่าง ๆ ทำสงครามได้ภายใต้สภาพแวดล้อมบางอย่าง อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุที่มีการสงวนสิทธิ์เป็นเงื่อนไขในการให้สัตยาบัน ข้อห้ามที่กำหนดไว้เพื่อให้รัฐต่าง ๆ ปฏิบัตินั้นก็เท่ากับว่าได้ถูกลบล้างไปด้วย และด้วยเหตุที่รัฐต่าง ๆ เมื่อทำสงครามก็มักจะอ้างว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันตนเองทั้งนั้น และก็เนื่องจากไม่มีคำนิยามให้ไว้ในกติกาสัญญาที่ระบุถึงข้อแตกต่างระหว่างสงครามรุกรานกับสงครามป้องกันตนเองเช่นนี้ ทำให้กติกาสัญญาฉบับนี้มีผลเพียงเล็กน้อยที่จะยับยั้งมิให้มีการใช้สงครามเป็นเครื่องมือในนโยบายของรัฐ ยกตัวอย่างเช่น สถานการณ์ทางพรมแดนญี่ปุ่นได้ใช้เป็นเหตุบุกโจมตีจีนเมื่อ ค.ศ. 1931 และ ค.ศ. 1937 ส่วนทางด้านอิตาลีก็ได้บุกเข้าไปในเอธิโอเปียเมื่อ ค.ศ. 1935 ในทั้งสองกรณีนี้ฝ่ายที่โจมตีต่างก็อ้างว่าทำไปเพื่อป้องกันตนเอง อย่างไรก็ดี การละเมิดกติกาสัญญากรุงปารีสนี้ ได้ถูกนำไปเป็นข้อกล่าวหาอย่างหนึ่งต่อเหล่าอาชญากรสงครามนาซีและญี่ปุ่น ที่ทำการตัดสินโดยศาลพันธมิตร ณ เมืองนูเรมเบิร์ก ประเทศเยอรมนี และ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

Peace Policy : Peaceful Coexistence

นโยบายสันติภาพ : การอยู่ร่วมกันโดยสันติ

เป็นการนำลัทธิเลนินมาตีความเสียใหม่ โดยปฏิเสธความในลัทธิเลนินที่บอกว่าสงครามระหว่างรัฐฝ่ายตะวันตกชั้นแนวหน้ากับรัฐฝ่ายคอมมิวนิสต์มิอาจหลีกเลี่ยงได้ หลักการอยู่ร่วมกันโดยสันติของคอมมิวนิสต์นี้ ผู้นำมาประกาศคือ ประธานาธิบดี นิกิตา ครุชชอฟ แห่งสหภาพโซเวียต ต่อที่ประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 20 เมื่อปี ค.ศ. 1956 หลักการใหม่ซึ่งใช้เป็นรากฐานของนโยบายโซเวียตนี้ ได้เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายหลีกเลี่ยงสงครามนิวเคลียร์ และให้งดเว้นจากการส่งออกเพื่อทำการปฏิวัติหรือต่อต้านการปฏิวัตินั้นด้วย ประธานาธิบดี ครุชชอฟ บอกว่า การแข่งขันระหว่างรัฐต่าง ๆ ที่มีระบบสังคมแตกต่างกันนี้ สามารถดำเนินการต่อไปได้ในด้านต่าง ๆ โดยไม่เกี่ยวกับการทหารทั้งปวง จนกว่าลัทธิคอมมิวนิสต์จะได้พิสูจน์ตนเองว่ามีความเหนือกว่าและสามารถทำลายล้างลัทธิทุนนิยมให้สิ้นซากได้แล้วเท่านั้น

ความสำคัญ หลักการอยู่ร่วมกันโดยสันตินี้ เป็นการส่อถึงการยอมรับถึงภัยคุกคามจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทำลายล้างซึ่งกันและกัน และเป็นการนำยุทธวิธีใหม่มาใช้เพื่อเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ดี หลักการนี้มิได้สนับสนุน "สันตินิยม" ทั้งนี้เพราะได้มีการกำหนดให้คนพื้นเมือง "ทำสงครามยุติธรรม" คือสงครามปลดปล่อยเพื่อใช้เป็นหนทางบรรลุถึงเป้าหมายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในดินแดนที่กำลังพัฒนาของโลกได้ สิทธิในการ "ส่งออก" กลุ่มปฏิวัติเพื่อคานอำนาจกับการสนับสนุนของพวกทุนนิยมต่อรัฐบาลปฏิกิริยาที่มวลชนต่อต้านนั้น เป็นส่วนหนึ่งในหลักการใหม่ของสหภาพโซเวียตที่ว่านี้ แนวความคิดหลายอย่างที่ปรากฎอยู่ในหลักการนี้ เป็นหลักการที่ได้จากการตีความลัทธิคอมมิวนิสต์ของเลนินและสตาลินใหม่นั่นเอง แต่ที่มาเน้นในเรื่องให้หลีกเลี่ยงการทำสงครามใหญ่กับฝ่ายตะวันตกนี้ ก็มีรากฐานมาจากการประเมินสถานการณ์ตามความเป็นจริงถึงอันตรายของสงครามนิวเคลียร์ ถึงแม้ว่าพวกผู้นำจีนเมื่อทศวรรษหลังปี ค.ศ.1950 และเมื่อทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1960 จะได้ประณามหลักการอยู่ร่วมกันโดยสันตินี้ โดยได้กล่าวหาว่าเป็นการปฏิเสธหลักการของลัทธิมาร์กซิสต์และลัทธิเลนิน และบอกว่าเป็นเครื่องหมายบ่งบอกถึงความขี้ขลาดตาขาวของพวกผู้นำโซเวียต แต่พอครั้นถึงช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1970 พวกผู้นำจีนเองก็ได้หันมายอมรับหลักการอยู่ร่วมกันโดยสันตินี้เป็นรากฐานสำหรับการคลายความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันรัฐมหาอำนาจนิวเคลียร์ทั้งปวงได้ยอมรับถึงความจำเป็นในการหลีกเลี่ยงความพินาศย่อยยับจากการทำสงครามนิวเคลียร์ แต่ในขณะเดียวกันก็ได้เสริมสร้างขีดความสามารถของตนทั้งในสงครามนิวเคลียร์และในสงครามตามแบบอยู่อย่างต่อเนื่อง

Peace Policy : Reparations

นโยบายสันติภาพ : การชดใช้ค่าเสียหาย, ค่าปฏิกรรม

การชดใช้ที่รัฐผู้ชนะเรียกร้องจากรัฐผู้แพ้ เพื่อชดใช้กับความผิดที่กระทำโดยรัฐผู้แพ้นั้นในช่วงก่อนหรือในระหว่างการสู้รบ การชดใช้ค่าเสียหายนี้ มักจะกระทำในรูปของสินค้าที่นำไปจากดินแดนของชาติผู้แพ้นั้น เพื่อชดเชยกับสินค้าที่ได้ถูกทำลายในระหว่างสงคราม แต่ก็อาจจะมีการชดใช้ค่าเสียหายในรูปของการจ่ายเป็นเงินก็ได้

ความสำคัญ การชดใช้ค่าเสียหายนี้ เป็นทั้งการลงโทษต่อรัฐผู้แพ้ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดศักยภาพในการทำสงครามลงชั่วระยะเวลาหนึ่ง และเป็นการช่วยเหลือแก่รัฐผู้ชนะในการบูรณะประเทศด้วย เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติลงแล้วนั้น ฝ่ายพันธมิตรในยุโรปโดยการนำของฝรั่งเศส ได้เรียกร้องค่าเสียหายอย่างมากจากเยอรมนี เพื่อนำไปใช้เป็นค่าปฏิกรรมสงคราม รวมตลอดไปจนถึงเป็นเงินบำนาญสำหรับผู้ทุพพลภาพจากสงครามคราวนี้ด้วย ในกรณีที่เยอรมนีไม่ยอมจ่ายค่าเสียหายครั้งนี้ทางฝ่ายพันธมิตรมีสิทธิที่จะส่งกองทัพเข้าไปลงโทษเยอรมนีได้ เยอรมนีได้จ่ายค่าเสียหายนี้ซึ่งแต่แรกก็มากแต่ต่อมาจ่ายน้อยลงเรื่อย ๆ จนถึง ค.ศ. 1931 ได้เกิดภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจทั่วโลก เยอรมนีจึงได้เลิกจ่ายหนี้ค่าปฏิกรรมสงครามเสียทั้งหมด เมื่อตอนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหภาพโซเวียตได้ดำเนินการยึดสินค้าและอุปกรณ์ทางอุตสาหกรรมในประเทศต่าง ๆ ที่กองทัพแดงเข้ายึดครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเยอรมนีและในแมนจูเรีย ค่าเสียหายเฉพาะที่สหภาพโซเวียตนำไปจากเยอรมนีแห่งเดียวมีมูลค่าถึง 28 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

War

สงคราม

การสู้รบระหว่างรัฐ หรือการสู้รบภายในรัฐ หรือภายในดินแดนเดียวกัน ที่ดำเนินการโดยใช้กองทัพ ในแง่ของกฎหมายนั้น สถานะสงครามเกิดขึ้นเมื่อรัฐสองรัฐหรือมากกว่าได้ประกาศเป็นทางการว่าสภาวะการสู้รบได้เกิดขึ้นระหว่างกันแล้ว นอกเหนือจากที่กล่าวนี้แล้ว นักกฎหมายระหว่างประเทศยังมีความเห็นขัดกันอยู่เกี่ยวกับเรื่องของเงื่อนไข จุดมุ่งหมาย หรือปฏิบัติการต่าง ๆ ที่จะประกอบเป็นสงครามตามนิยามในทางกฎหมาย อย่างไรก็ดี ในทางพฤตินัยนั้น สงครามถือว่าได้เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นมากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ดำเนินการใช้กำลังกับอีกกลุ่มหนึ่ง ส่วนระดับของการสู้รบนั้นก็มีตั้งแต่สงครามเบ็ดเสร็จซึ่งมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ อาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ และอาวุธที่แผ่อำนาจทำลายจำนวนมหาศาล จนกระทั่งถึงสงครามจำกัดโดยมีการใช้เฉพาะกองกำลังทางบก ทางเรือ และทางอากาศตามแบบ สำหรับจุดมุ่งหมายของสงครามนั้น ก็จะมีตั้งแต่เพื่อทำลายล้างรัฐหรือกลุ่มรัฐแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จนถึงที่มีวัตถุประสงค์จำกัด อย่างเช่น เพื่อยึดรักษาดินแดนบางส่วนหรือเพื่อกำหนดเส้นพรมแดนเสียใหม่ เป็นต้น การสู้รบกันนี้อาจจะกระทำโดยกองทัพที่มีการจัดตั้งอย่างดี หรือโดยกลุ่มกองโจรที่ปฏิบัติการอยู่ในชนบท ส่วนสาเหตุของสงครามนั้นก็มีมากมายหลายประการและมีความสลับซับซ้อนมาก แต่ที่ไม่มีใครโต้แย้งได้ก็คือมีปัจจัยทางการเมือง ปัจจัยทางอุดมการณ์ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ปัจจัยทางศาสนา และปัจจัยทางจิตวิทยา กฎหมายระหว่าประเทศมีข้อกำหนดไว้ว่า พฤติกรรมของคู่สงครามในระหว่างเกิดสงคราม จะถูกควบคุมโดยกฎเกณฑ์การทำสงคราม ที่ได้พัฒนามาจากจารีตประเพณีและสนธิสัญญาพหุภาคีแบบกว้าง ๆ

ความสำคัญ ในทางประวัติศาสตร์ กฎหมายระหว่างประเทศได้ยอมรับว่าการทำสงครามเป็นหน้าที่ปกติ อย่างหนึ่งของรัฐอธิปไตย ที่นำมาปฏิบัติเพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์แห่งชาติ แต่ในยุคใหม่นี้ได้มีความ พยายามที่จะขัดขวางมิให้ชาติต่าง ๆ ทำสงครามกัน และให้แสดงพฤติกรรมแบบผู้มีอารยธรรมในขณะที่มีการรบกันนั้นด้วย โดยได้มีการเริ่มต้นเรื่องนี้ขึ้นในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 เรื่อยมา โดยกระทำผ่านทางการประชุมในระดับพหุภาคีหลายต่อหลายครั้ง ข้อห้ามที่มิให้มีการใช้สงครามหรือเทคนิควิธีในการสงครามซึ่งปรากฏอยู่ในอนุสัญญาต่าง ๆ ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั้น ต่อมาก็ได้กลายเป็นข้อห้ามต่าง ๆ ที่ได้ประชุมตกลงกัน ณ กรุงเฮกเมื่อปี ค.ศ. 1899 และปี ค.ศ. 1907 และข้อกำหนดเหล่านี้เป็นการสร้างระบบสันนิบาตชาติขึ้นมา และในที่สุดก็เป็นสิ่งมีคุณูปการต่อการพัฒนาเป็นสหประชาชาติในเวลาต่อมา สหประชาชาตินี้ได้จัดตั้งกันขึ้นมาเพื่อดำรงสันติภาพ โดยวิธีการที่เกี่ยวโยงสอดประสานซึ่งกันและกันสามวิธีดังต่อไปนี้คือ(1) ให้มีการแก้ไขข้อพิพาทโดยสันติวิธี (2) ให้มีระบบความมั่นคงร่วมกันเพื่อใช้กับประเทศผู้รุกราน และ(3) ให้มีการสร้างระเบียบแก่โลกโดยใช้โครงการทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และทางมนุษยธรรม ถึงแม้ว่าจะไม่มีสงครามโลกเกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1945 เป็นต้นมา แต่ก็มีสงครามใหญ่ ๆ เกิดขึ้นมากกว่า 40 สงคราม นับตั้งแต่สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม เรื่อยไปจนถึงการปฏิวัติภายในหมู่ประเทศโลกที่สามอีกหลายประเทศ ส่วนสงครามระหว่างมหาอำนาจก็ได้เบี่ยงเบนไปจากสงครามแบบเดิม ๆ โดยได้มีการพัฒนาอาวุธ ที่มีอำนาจทำลายล้างมาก ๆ ซึ่งสามารถนำมาใช้ทำลายซึ่งกันและกันได้ไม่ว่ารัฐนั้นจะเป็นฝ่ายโจมตีหรือจะเป็นฝ่ายถูกโจมตีก็ตาม

War : Belligerency

สงคราม : การเป็นคู่สงคราม

การเป็นคู่สงคราม คือ การที่รัฐต่างประเทศได้ให้การรับรองว่าได้เกิดสภาวะสงครามกลางเมืองขึ้นภายในรัฐใดรัฐหนึ่งแล้ว การที่จะตกลงใจว่าควรจะให้การรับรองในสถานภาพทางกฎหมายแก่ฝ่ายกบฏที่ใช้กำลังเข้าต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายนี้ว่าเป็นคู่สงครามหรือไม่นั้น เป็นปัญหาทางด้านการเมือง มิใช่เป็นปัญหาทาด้านกฎหมาย เมื่อได้มีการให้การรับรองแก่ฝ่ายกบฏแล้ว ก็จะส่งผลให้ฝ่ายกบฏนั้นมีสถานภาพระหว่างประเทศโดยพฤตินัยขึ้นมา ทำให้มีสิทธิและหน้าที่ในการสงครามตามกฎหมาย การรับรองการเป็นคู่สงครามนี้ก็ยังเป็นการให้การรับรองด้วยว่า กองกำลังต่อต้านรัฐบาลนี้ มีสิทธิที่จะปกครองพื้นที่ต่าง ๆ ของรัฐที่ได้ตกมาอยู่ในความควบคุมโดยพฤตินัยของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลแล้วนี้

ความสำคัญ การตัดสินใจให้การรับรองสภาวะการเป็นคู่สงครามภายในชาติใดชาติหนึ่ง อาจจะส่งผลสำคัญตามมา เพราะจะเป็นการอนุญาตให้รัฐต่าง ๆ ที่ให้การรับรองนี้สามารถให้ความช่วยเหลือทางด้านวัตถุ ทางด้านการเมือง และทางด้านขวัญและกำลังใจ แก่กองกำลังฝ่ายกบฏนั้นได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อฝรั่งเศสได้ให้การรับรองการเป็นคู่สงครามแก่ฝ่ายอเมริกันในระหว่างเกิดสงครามเรียกร้องเอกราชขึ้นมานั้น ทำให้ฝรั่งเศสมีความชอบธรรมในการให้ความช่วยเหลือแก่ฝ่ายกบฏให้ต่อสู้จนเอาชนะฝ่ายเจ้าอาณานิคมนั้นได้ การให้การรับรองโดยพฤตินัยที่หลายรัฐให้แก่แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติเวียตนามใต้ก็ได้ช่วยให้แนวร่วมนี้ได้มาตรการชอบธรรมขึ้นมาได้ การรีบให้การรับรองก่อนที่จะมีสิทธิโดยชอบธรรมแก่กองกำลังฝ่ายต่อต้านนี้ ก็อาจจะถูกถือว่าเป็นการกระทำฉันไม่เป็นมิตร และอาจนำไปสู่การตัดความสัมพันธ์ทางการทูต การคุกคามด้วยสงคราม หรือการประกาศสงครามต่อรัฐที่ให้การรับรองนั้นได้อีกเหมือนกัน

War : Contraband

สงคราม : ของต้องห้าม

วัตถุทางสงครามที่รัฐเป็นกลางอาจจะขายให้แก่คู่สงครามไม่ได้ กฎหมายระหว่างประเทศได้ให้การรับรองสิทธิของรัฐคู่สงครามที่จะปฏิเสธการขนส่งวัตถุต้องห้ามนี้ไปให้แก่ฝ่ายศัตรู แต่ประชาคมระหว่างประเทศก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ว่า มีสินค้าใดบ้างที่เป็นของต้องห้าม และสินค้าอะไรบ้างที่ไม่เกี่ยวกับการทำสงคราม สินค้าที่ขนส่งทางเรือไปที่ท่าเรือประเทศเป็นกลาง หากจุดหมายปลายทางสุดท้ายเป็นการขนส่งไปให้แก่ฝ่ายศัตรู เช่นนี้ก็อาจจะถูกยึดในฐานเป็นของต้องห้าม ภายใต้หลักการการขนส่งต่อเนื่อง หรือหลักการจุดหมายปลายทางสุดท้าย มีสินค้าอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า "ของต้องห้ามแบบมีเงื่อนไข" ได้แก่ สินค้าที่ใช้บริโภคอุปโภคกันในยามปกติ แต่ก็อาจถูกใช้เพื่อจุดประสงค์ทางการทหารได้

ความสำคัญ สงครามสมัยใหม่ ซึ่งมีการเน้นที่ให้ทำการทำลายขวัญและกำลังใจของประชาชนพลเรือนด้วยนั้นก็เป็นตัวการอย่างหนึ่งที่ไปลบล้างข้อแตกต่างระหว่างสินค้าต้องห้ามกับสินค้าที่ได้รับอนุญาต ซึ่งรัฐเป็นกลางขนส่งให้แก่คู่สงคราม สินค้าส่วนใหญ่แม้กระทั่งว่าสินค้าประเภทอาหาร ได้รับการรับรองในโลกปัจจุบันนี้ว่ามีคุณูปการสำคัญต่อการทำสงครามของชาติต่าง ๆ สิทธิของคู่สงครามที่จะหยุดแล้วทำการตรวจค้นเรือของชาติเป็นกลาง และทำการยึดของต้องห้ามที่มีจุดหมายปลายทางที่ฝ่ายศัตรูนั้น ได้เกิดไปขัดกับหลักการทั่ว ๆ ไปของเสรีภาพทางทะเล ยกตัวอย่างเช่น ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 ความสัมพันธ์ระหว่างชาติเป็นกลางกับชาติคู่สงครามมักไม่ราบรื่นเป็นไม้เบื่อไม้เมาระหว่างกันเพราะผลจากการปฏิบัติการดังกล่าวนี้

War : Enemy Alien

สงคราม : คนต่างด้าวชาติศัตรู

พลเมืองของรัฐต่างประเทศที่เข้าไปพำนักอยู่ในรัฐที่ทำสงครามกับรัฐบ้านเกิดเมืองนอนของตน กำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่นำมาใช้กับคนต่างด้าวชาติศัตรูนี้ ส่วนใหญ่มีกำหนดไว้ในกฎหมายจารีตประเพณี ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลของรัฐที่คนต่างด้าวชาติศัตรูเข้าไปพักพิงอยู่นั้นสามารถกระทำการใด ๆ ได้ตามอำเภอใจ แต่ทั้งนี้ก็ต้องให้เป็นไปตามหลักปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมนั้นด้วย

ความสำคัญ เมื่อได้มีการประกาศสงครามกันในช่วงก่อนจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น คนต่างด้าวชาติศัตรูโดยทั่ว ๆ ไปจะได้รับการยินยอมให้ออกเดินทางกลับประเทศของตนได้ หรือไม่ก็ให้อยู่ต่อไปในประเทศนั้น ๆ แต่ต้องมีการควบคุมความประพฤติ และต้องงดเว้นจากการกระทำใด ๆ อันจะเป็นการช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกให้แก่ฝ่ายศัตรู ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 คนต่างด้าวชาติศัตรูได้ถูกควบคุมในระดับต่าง ๆ กล่าวคือ มีการให้ขึ้นทะเบียน ไม่ให้เสรีภาพในการเคลื่อนย้าย การจำกัดในอาชีพ และในบางกรณีก็ได้มีการนำตัวไปกักขังไว้ที่ศูนย์อพยพต่าง ๆ

War : Escalation

สงคราม : การขยายตัวของสงคราม

การเพิ่มความเข้มข้นหรือการขยายพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ในการสู้รบกันในสงคราม การขยายตัวของสงครามนี้ อาจจะเป็นการเพิ่มจำนวนกำลังพลที่ใช้ในสงครามจำกัด การเพิ่มจำนวนประเทศเข้ามาช่วยร่วมรบ การขยายพื้นที่ปฏิบัติการ การใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีพลานุภาพในทางทำลายล้างให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น หรือมีการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของการปฏิบัติการทางทหาร แต่จุดมุ่งหมายในการขยายตัวของสงครามในสถานการณ์ของสงครามจำกัดนั้น ก็อาจจะทำเพื่อให้ศัตรูยอมแพ้ หรือเพื่อเป็นการเพิ่มระดับการลงโทษเพื่อบีบบังคับให้ศัตรูหันมาเจรจา หรือเพื่อยุติกิจกรรมที่เป็นสาเหตุของสงครามนั้นก็ได้

ความสำคัญ การขยายตัวของการสู้รบโดยฝ่ายหนึ่งจะส่งผลให้อีกฝ่ายหนึ่งขยายการสู้รบของฝ่ายตนหากอยู่ในวิสัยที่ฝ่ายตนจะสามารถกระทำได้ ยกอย่างเช่น ในกรณีของสงครามเวียดนาม เมื่อฝ่ายสหรัฐอเมริกายกระดับการใช้วิธีป้องปรามโดยการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกำลังพล เพิ่มระดับความเข้มข้นของสงคราม ขยายการทิ้งระเบิดในเวียดนามเหนือ เพิ่มการทิ้งระเบิดไปยังเป้าหมายใหม่ๆ ทางฝ่ายเวียดกงและเวียดนามเหนือเองก็ได้ปฏิบัติการตอบโต้เช่นเดียวกันและพวกนี้ก็ได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้นจากสหภาพโซเวียตและจีนคอมมิวนิสต์ ซึ่งข้อนี้ก็จะเป็นการขยายความขัดแย้งที่เป็นอันตรายเพราะสามารถจะส่งผลให้เกิดเป็นสงครามนิวเคลียร์ขึ้นมาได้ ในยุคนิวเคลียร์นั้น การขายความขัดแย้งนับว่าเป็นอันตรายอย่างร้ายแรง เพราะเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งต้องการได้รับชัยชนะก็อาจจะควบคุมไม่ได้และจะส่งผลให้เกิดสงครามเบ็ดเสร็จและการทำลายล้างกันทั้งสองฝ่าย เนื่องจากการขยายตัวของสงครามที่พูดถึงนี้เป็นการจำกัดอยู่เฉพาะการใช้อาวุธในรูปแบบปกติ นักวิเคราะห์หลายคนจึงเชื่อว่าสงครามจำกัดในโลกปัจจุบันซึ่งมีอาวุธนิวเคลียร์เข้ามาเกี่ยวข้องไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม จะยุติลงด้วยการยันกันเอาไว้และนำไปสู่การเจรจากันทางการเมืองในที่สุด

War : Martial Law

สงคราม : กฎอัยการศึก

การให้อำนาจทางทหารเข้าปกครองประชาชนพลเรือน ในยามสงครามหรือในช่วงฉุกเฉินภายใต้กฎอัยการศึกนี้ จะมีการนำเอาประกาศกฤษฎีกามาใช้แทนกฎหมายพลเรือน และให้ศาลทหารเข้ามาทำหน้าที่แทนศาลพลเรือน

ความสำคัญ ภายใต้กฎอัยการศึก นายทหารในกองทัพสามารถใช้อำนาจได้อย่างมาก แต่เพื่อป้องกันมิให้มีการใช้อำนาจนี้อย่างผิด ๆ ชาติต่าง ๆ ก็จะขีดวงให้ทหารใช้อำนาจนี้ กล่าวคือ จะให้ผู้นำทางการเมืองเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะนำเอากฎอัยการศึกนี้มาประกาศใช้เมื่อใด ใช้ที่ไหนบ้าง และจะกำหนดเวลาให้ใช้นานเท่าใด ยกตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา ผู้ที่มีอำนาจในการประกาศกฎอัยการศึกนี้ถ้าเป็นระดับชาติก็คือตัวประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่ถ้าเป็นระดับภายในรัฐ ก็ให้อำนาจแก่ผู้ว่าการรัฐนั้น ๆ แต่โดยทั่วไปนั้น กฎอัยการศึกนี้จะนำไปใช้โดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลของรัฐฝ่ายชนะสงคราม ในดินแดนที่เข้าไปยึดครองของรัฐฝ่ายแพ้สงคราม แต่ในหมู่ประเทศโลกที่สาม เมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้นก็จะมีการประกาศกฎอัยการศึกติดตามมาด้วย

War : Measures Short of War

สงคราม : มาตรการบังคับที่ไม่ถึงขั้นทำสงคราม

มาตรการต่าง ๆ ที่รัฐหนึ่งรัฐใดใช้กับอีกรัฐหนึ่งเพื่อปกป้องสิทธิทางกฎหมาย หรือเพื่อลงโทษผู้กระทำผิด โดยที่ยังมิได้มีการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการระหว่างกันมาตรการบังคับที่ยังไม่ถึงขั้นสงครามนี้ เป็นการกระทำฝ่ายเดียวของรัฐ อย่างเช่น (1) การตัดความสัมพันธ์ทางการทูต (2) การกระทำตอบโต้ (เป็นการกระทำที่ถูกกฎหมายแต่เป็นการกระทำที่ไม่เป็นมิตรที่รัฐใดรัฐหนึ่งกระทำต่ออีกรัฐหนึ่งที่ได้กระทำการในทางที่ไม่เป็นมิตรแต่ถูกกฎหมายในทำนองเดียวกัน) (3) การแก้เผ็ด (เป็นการปฏิบัติการที่ผิดกฎหมายเพื่อตอบโต้ต่อรัฐที่ทำผิดเป็นอาจิณ) (4) การกักเรือสินค้า หรือการคว่ำบาตร (5) การปิดล้อมทางทะเล หรือ (6) การเข้ายึดครองดินแดนต่างชาติ

ความสำคัญ มาตรการบังคับที่ไม่ถึงขั้นสงครามนี้ ได้รับการรับรองจากกฎหมายระหว่างประเทศแบบจารีตประเพณีมาหลายศตวรรษแล้ว ว่าเป็นการใช้อำนาจการตอบโต้ของรัฐที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อลงโทษต่อความผิดที่รัฐอื่นกระทำต่อรัฐตน ในกรณีที่โลกไม่มีอำนาจส่วนกลางมาทำหน้าที่ลงโทษแก่รัฐที่กระทำผิด และให้ความคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ ก็ควรให้แต่ละรัฐสามารถใช้มาตรการช่วยเหลือตนเองเพื่อให้เกิดความยุติธรรมนี้ได้ กระนั้นก็ดี การใช้มาตรการบังคับที่ไม่ถึงขั้นสงครามนี้ก็อาจจะทำให้ปัญหาระหว่างประเทศมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และนำไปสู่การประกาศสงครามระหว่างกันได้ ภายใต้กติกาสันนิบาตชาติและกฎบัตรสหประชาชาตินั้น ได้กำหนดให้ชาติสมาชิกเลิกใช้มาตรการช่วยเหลือตนเองที่ไม่ถึงขั้นสงครามนี้เพื่อแก้ไขข้อพิพาทกับรัฐอื่น ยกตัวอย่างเช่น สมาชิกสหประชาชาติได้ตกลงว่า จะแก้ไขกรณีพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติวิธี คือ โดยการใช้วิธีดำเนินการแก้ไขกรณีพิพาทแบบดั้งเดิม โดยใช้ตัวแทนหรือการดำเนินการในระดับภูมิภาค หรือโดยเสนอเรื่องกรณีพิพาทนั้นต่อคณะมนตรีความมั่นคง ต่อสมัชชาใหญ่ หรือต่อศาลสถิตยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ)

War : Military Government

สงคราม : รัฐบาลทหาร

การนำระบบการปกครองโดยทหารไปใช้กับประชาชนฝ่ายพลเรือนในดินแดนที่ได้มาโดยการยึดครอง ที่ต้องมีการใช้อำนาจการปกครองโดยรัฐบาลทหารนี้ ก็เนื่องมาจากความจำเป็นของกองทัพที่เข้าไปยึดครองดินแดนนั้น และพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติต่อประชาชนในดินแดนที่เข้าไปยึดครองอย่างผู้มีอารยธรรม ถึงแม้ว่ารัฐบาลทหารจะไม่สามารถไปบังคับให้พลเรือนในเขตยึดครองให้กล่าวคำสัตย์ปฏิญาณได้ แต่ก็สามารถขอให้พวกเขาเชื่อฟังเป็นการชั่วคราวได้ นอกจากนี้แล้วสามารถนำระบบการปกครองแบบทหารนี้ไปใช้ในดินแดนที่ได้ปลดปล่อยในเขตปฏิบัติการทางทหารของตน จนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนขึ้นมาได้ใหม่

ความสำคัญ การใช้การปกครองแบบทหารกับประชาชนในดินแดนที่ได้มาโดยการยึดครองนี้ เป็นเรื่องเก่าแก่มานานควบคู่มากับประวัติของการสงคราม แต่บทบาทของการปกครองแบบนี้ได้มีการขยายออกไปโดยมีการใช้วิธีการต่าง ๆ ที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในยุคปัจจุบันนี้ คือ จะต้องไม่ใช้วิธีควบคุมประชาชนในดินแดนยึดครองที่แสดงอาการเป็นศัตรู แต่ควรจะได้ใช้วิธีเอาชนะใจเขาให้หันมาสนับสนุนฝ่ายเราทั้งทางการเมืองและทางอุดมการณ์ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงระหว่างและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายพันธมิตรได้เข้าช่วยเหลือชาติฝ่ายอักษะให้จัดตั้งสถาบันทางการเมือง สถาบันทางเศรษฐกิจ และสถาบันทางสังคมขึ้นมาใหม่ แต่ในขณะเดียวกันนั้นก็ได้ชักนำให้พวกเขาได้จัดตั้งสถาบันต่างๆ ที่ยังไม่มีการยอมรับมาก่อนให้เกิดขึ้นมาด้วย ความสำเร็จในนโยบายนี้ได้มีตัวอย่างให้เห็น คือ ทางฝ่ายพันธมิตรตะวันตกได้จัดตั้งรัฐบาลต่าง ๆ ในดินแดนยึดครองของตนโดยยึดแม่แบบการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ขณะที่ทางฝ่ายสหภาพโซเวียตก็ได้จัดตั้งรัฐบาลต่าง ๆ ในเขตยึดครองของตนโดยยึดแม่แบบการปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์

War : Refugee

สงคราม : ผู้ลี้ภัย

บุคคลที่ถูกขับไล่ ถูกเนรเทศ หรือหลบหนีออกจากประเทศที่ตนมีสัญชาติอยู่ หรือที่ตนมีถิ่นพำนักอยู่นั้น ด้วยเหตุที่ผู้ลี้ภัยนี้ไม่มีสิทธิทางกฎหมายหรือทางการเมือง สวัสดิการของบุคคลเหล่านี้จึงตกเป็นภาระและหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ผู้ลี้ภัยนี้อาจจะถูกส่งตัวกลับบ้านเกิดเมืองนอนของตน หรืออาจจะให้อพยพเข้าไปตั้งรกรากอยู่ประเทศอื่นแล้วให้ผสมกลมกลืนเข้ากับสังคมของประเทศนั้นเมื่อรัฐบาลประเทศนั้น ๆ ยอมให้อพยพเข้าไปอยู่ได้ ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสถานภาพของผู้ลี้ภัยฉบับ ค.ศ. 1951 ซึ่งมีการแก้ไขปรับปรุงโดยพิธีสารปี ค.ศ. 1967 ได้ให้คำนิยามผู้ลี้ภัยว่า ได้แก่บุคคล"ที่เกิดความกลัวอย่างฝังจิตฝังใจว่า ตัวเองจะถูกลงโทษเพราะเหตุแห่งเผ่าพันธุ์ ศาสนา สัญชาติ เป็นสมาชิกของกลุ่มทางสังคมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือมีความคิดเห็นทางการเมือง ได้ออกไปอยู่นอกประเทศที่ตนมีสัญชาติอยู่นั้น และไม่สามารถหรือไม่อยากจะขอความคุ้มครองตนเองจากประเทศเจ้าสัญชาติของตนนั้นได้เนื่องจากเกิดความเกรงกลัวดังกล่าว"

ความสำคัญ เนื่องจากยุทธวิธีของสงครามสมัยใหม่นี้ได้ใช้วิธีการต่าง ๆ สร้างความสยดสยองตื่นกลัวให้แก่ประชาชนฝ่ายพลเรือน นอกจากนั้นแล้ว ในการปฏิวัติหรือในสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง ผู้คนจะเกิดการแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายและมีความจงเกลียดจงชังกันอันสืบเนื่องมาจากความแตกต่างกันทางด้านอุดมการณ์และด้านสัญชาติ เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้มีผู้ลี้ภัยนับล้าน ๆ คนในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 นี้ การปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยที่กระทำกันในทุก ๆ ด้านนั้น ได้เริ่มขึ้นเมื่อสันนิบาตชาติได้จัดตั้งสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฝ่ายผู้ลี้ภัยขึ้นมาเมื่อ ค.ศ. 1921 เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยจำนวนสิบสองล้านคนซึ่งได้หลบหนีออกจากประเทศรัสเซียในช่วงเกิดการปฏิวัติบอลเชวิก ความสำเร็จที่สำคัญในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในช่วงที่เกิดการสู้รบในสงครามกลางเมืองคราวนี้ ก็คือ ได้มีการเสนอให้มีการใช้พาสปอร์ต "นันเซน" พาสปอร์ตนันเซนนี้ก็คือใบรับรองที่รัฐใดรัฐหนึ่งเป็นผู้ออกให้ โดยการเสนอแนะของข้าหลวงใหญ่ให้ใช้แทนพาสปอร์ตปกติ ซึ่งทำให้ผู้ลี้ภัยที่ถือใบรับรองนี้สามารถเดินทางข้ามพรมแดนประเทศต่าง ๆ ในยุโรปได้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีบุคคลพลัดถิ่นหลายล้านคนได้หลบหนีจากบ้านเกิดเมืองนอนของตน ถูกขับออกมา ถูกเนรเทศไปเป็นเชลยศึก หรือเข้าไปอยู่ในค่ายบังคับใช้แรงงานในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1943 ถึง ค.ศ. 1947 องค์การบรรเทาทุกข์และการย้ายถิ่นฐานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นอาร์อาร์เอ) ได้ดำเนินการโครงการบรรเทาทุกข์และจัดโครงการส่งผู้ลี้ภัยจำนวน 8 ล้านคนกลับประเทศ องค์การยูเอ็นอาร์อาร์เอนี้ ได้รับการสานต่อโดยองค์การผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ (ไออาร์โอ) ซึ่งในช่วงที่องค์การไออาร์โอทำงานอยู่ คือ ระหว่างปี ค.ศ. 1947 ถึงปี ค.ศ. 1952 ก็ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยจากแอฟริกา เอเชีย ยุโรป และอเมริกา จำนวนรวมกันเกือบ 2 ล้านคน ให้เข้าไปตั้งรกรากอยู่ในประเทศอื่น หรือให้เดินทางกลับสู่มาตุภูมิเดิม นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1952 เป็นต้นมา หน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับปัญหาผู้ลี้ภัย ก็คือ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฝ่ายผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นเอชซีอาร์) ซึ่งได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเป็นการถาวรให้แก่ผู้ลี้ภัย โดยวิธีการให้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศอื่น หรือให้เกิดการผสมกลมกลืนเข้ากับสังคมใหม่ที่เข้าไปอยู่นั้น นอกจากองค์การยูเอ็นเอชซีอาร์นี้แล้ว ก็ยังมีหน่วยงานพิเศษให้การบรรเทาทุกข์และจัดหางานให้ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นอาร์ดับเบิลยูเอ)ได้ทำหน้าที่บรรเทาทุกข์แก่ผู้ลี้ภัยกว่าหนึ่งล้านคนที่ได้หลบหนีไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านอาหรับ จากผลของสงครามอาหรับ - อิสราเอล ระหว่างปี ค.ศ. 1948 – 1949 ปี ค.ศ. 1956 ปี ค.ศ. 1967 และปี ค.ศ. 1973

War : Rules of Warfare

สงคราม : กติกาสงคราม

หลักการและหลักปฏิบัติในกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ใช้ควบคุมพฤติกรรมของชาติต่าง ๆ ที่ทำการสู้รบกัน กติกาสงครามนี้เดิมทีมีอยู่ในรูปของกฎหมายจารีตประเพณีนับตั้งแต่ครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา กฎกติกาเหล่านี้มีรากฐานมาจากอนุสัญญาระหว่างประเทศแบบพหุภาคีต่าง ๆ เครื่องมือสำคัญที่เป็นตัวกำหนด "กฎหมายสงคราม" และขอบข่ายในการใช้ที่สำคัญมีดังนี้คือ (1)ปฏิญญา-กรุงปารีสปี ค.ศ. 1856 ซึ่งกำหนดให้มีการจำกัดสงครามทางเรือโดยไม่ให้มีการติดอาวุธเรือเอกชนแล้วให้ทำการรบกวนการค้าขายของรัฐคู่สงคราม และมีข้อกำหนดว่าการปิดล้อมทางทะเลจะมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายได้นั้นจะต้องเป็นการปิดที่มีประสิทธิผล (2) อนุสัญญากรุงเจนีวาปี ค.ศ. 1964 (แก้ไขปรับปรุงปี ค.ศ. 1906) กำหนดให้มีการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมต่อผู้บาดเจ็บในสนามรบ (3) อนุสัญญากรุงเฮกปี ค.ศ. 1899 ได้ทำการประมวลหลักปฏิบัติในสงครามทางบกหลายเรื่องที่ได้รับการยอมรับแล้ว (4) อนุสัญญากรุงเฮกปี ค.ศ.1907 ได้แก้ไขปรับปรุงอนุสัญญากรุงเฮกปี ค.ศ. 1899 ว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของคู่สงคราม ตลอดจนของรัฐและของบุคคลที่เป็นกลาง รวมทั้งมีการประกาศใช้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้ควบคุมอาวุธใหม่ ๆ อย่างเช่นกระสุนปืนหัวตัดเพื่อให้บานได้ แก๊สพิษ และการใช้บอลลูนเพื่อทิ้งระเบิด เป็นต้น (5) อนุสัญญากรุงเจนีวาปี ค.ศ. 1929 กำหนดให้มีการปฏิบัติเป็นอย่างดีต่อเชลยศึก ผู้เจ็บป่วยและผู้บาดเจ็บในสงคราม (6) พิธีสารกรุงลอนดอนปี ค.ศ. 1935 ให้มีการจำกัดการใช้เรือดำน้ำต่อเรือสินค้า และ (7) อนุสัญญากรุงเจนีวาปี ค.ศ.1949 ได้แก้ไขปรับปรุงให้ทันสมัยซึ่งกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเชลยศึก คนเจ็บป่วยและคนได้รับบาดเจ็บ และการให้การคุ้มครองแก่พลเรือน นอกจากอนุสัญญาที่กล่าวมานี้ ตลอดจนอนุสัญญาระดับย่อยอื่น ๆ และอนุสัญญาในระดับภูมิภาคเหล่านี้แล้ว คู่สงครามในโลกยุคปัจจุบันนี้ ก็ยังจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศแบบจารีตประเพณีและกฎหมายมนุษยธรรม ที่มีข้อห้ามมิให้กระทำอย่างโหดร้ายหรือปฏิบัติการอื่นใดอันเป็นการขัดต่อศีลธรรมสาธารณชนที่นอกเหนือไปจากที่ได้มีการระบุไว้ในกฎหมายจารีตประเพณี หรือกฎหมายที่ได้จากสนธิสัญญาเหล่านั้นแล้ว

ความสำคัญ การพัฒนากฎกติกาสงครามนี้ มีรากฐานมาจากข้อสมมติฐานที่ว่า เราไม่สามารถขจัดสงครามได้อย่างเด็ดขาด ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราก็ควรทำให้สงครามที่เกิดขึ้นมานั้นมีการยึดหลัก มนุษยธรรมให้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ การที่ให้มีกฎหมายระหว่างประเทศมาใช้จำกัดพฤติกรรมของคู่สงครามในระหว่างการสู้รบกันนี้ ก็เพื่อเป็นการตั้งมาตรฐานขั้นต่ำแก่พฤติกรรมแบบอารยชนที่คู่สงครามจะต้องให้ความเคารพแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยและนำไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลแก่คู่สงครามทั้งสองฝ่าย แต่กฎกติกาสงครามเหล่านี้ ก็มักจะมีการละเมิดกันในช่วงที่การรบกำลังร้อนระอุสุดขีด ในสงครามขัดกันทางด้านอุดมการณ์หรือสงครามชาตินิยม ในสงครามกลางเมืองและสงครามปฏิวัติ ตลอดจนในสงครามที่ต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของชาติ ยุทธศาสตร์ของสงครามสมัยใหม่ ก็จะมีการใช้วิธีการทั้งมวลเพื่อทำลายขวัญและกำลังใจของผู้คนทั้งประเทศ โดยวิธีทำลายศักยภาพทางอุตสาหกรรมและศูนย์กลางย่านชุมชนของฝ่ายศัตรูไปพร้อม ๆ กับทำลายกองกำลังของฝ่ายศัตรูในสมรภูมิรบนั้นด้วย กระนั้นก็ดี รัฐต่าง ๆ ที่ทำสงครามกันก็ได้พยายามที่จะเคารพต่อกฎกติกาสงครามส่วนใหญ่ และเมื่อมีการละเมิดกฎกติกาเหล่านี้บ้าง ก็จะถูกนำมาป่าวประกาศให้สาธารณชนได้ทราบกันทั่วมากกว่าการดำเนินการตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเกิดสงครามกองโจรที่มีเหตุจูงใจมาจากการขัดแย้งทางการเมืองและทางอุดมการณ์ขึ้นมาในระหว่างทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1970 และทศวรรษหลังปี ค.ศ.1980 ก็เป็นการคุกคามบ่อนทำลายอุดมคติแห่ง "อารยปฏิปทา" ที่นับว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญในการพัฒนากติกาสงครามที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง

War Measures : Blockade

มาตรการทางสงคราม : การปิดล้อมทางทะเล ปฏิบัติการทางเรือเพื่อป้องกันการส่งกำลังบำรุงทางเรือมิให้ไปถึงศัตรู การปิดล้อมทางทะเลนี้ อาจจะมุ่งไปที่กองทหารในสมรภูมิรบอย่างเดียว หรือเพื่อมิให้ทรัพยากรและอาหารต่าง ๆ ตกไปถึงประชาชนพลเมืองทั้งหมดด้วยก็ได้ มีการปิดล้อมทางทะเลอย่างหนึ่ง เรียกว่าการปิดล้อมทางทะเลยามสันติ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นปฏิบัติการทางสงครามแต่เป็นการแก้เผ็ดต่อการกระทำที่ผิดกฎหมาย ที่สามารถกระทำได้โดยรัฐใดรัฐหนึ่งต่ออีกรัฐหนึ่งในยามสันติ เพื่อมิให้เรือของชาติที่ทำผิดนั้น (แต่ต้องไม่รวมถึงเรือของชาติอื่น) ได้เข้าไปในท่าเรือของชาติที่ถูกปิดล้อมนั้น การปิดล้อมทางบกเพื่อมิให้มีการเดินทางผ่านดินแดนของชาติใดชาติหนึ่ง ก็อาจจะกระทำได้ในยามสันติเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น กรณีของการปิดล้อมกรุงเบอร์ลินนั้น ได้มีการปิดล้อมมิให้กองกำลังของฝ่ายพันธมิตรเดินทัพทางบกข้ามเยอรมนีด้านตะวันออกเข้าไปยังกรุงเบอร์ลินที่ถูกปิดล้อมไว้นั้น ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการลำเลียงพลทางอากาศ การที่จะทำให้การปิดล้อมทางทะเลมีผลบังคับนั้น ในทางกฎหมายระหว่างประเทศมีข้ออนุญาตให้สามารถริบเรือสินค้าและสินค้าของคู่สงคราม ตลอดถึงเรือและสินค้าของชาติเป็นกลางที่ถูกจับกุมไว้ในขณะที่พยายามจะฝ่าการปิดล้อมนั้นได้

ความสำคัญ กฎหมายระหว่างประเทศห้ามไว้มิให้ใช้วิธีกล่าวอ้าง "ปิดล้อมทางทะเลที่ไร้ผล" แต่จะต้องเป็นการปิดล้อมที่มีกองกำลังทางเรือที่มีขนาดพอเพียงมาทำให้การปิดล้อมมีประสิทธิผลขึ้นมาได้ มิฉะนั้นแล้วในทางกฎหมายเรือของชาติเป็นกลางไม่จำเป็นต้องเคารพการปิดล้อมทางทะเลนั้น นอกจากนี้แล้ว ก็จะต้องมีการเตือนภัยล่วงหน้าแก่ชาติเป็นกลาง และเรือของชาติเป็นกลางก็จะต้องมีเวลาให้พอสมควรให้สามารถเดินทางออกจากรัฐที่ถูกปิดล้อมนั้นโดยมิถูกทำลาย การปิดล้อมทางทะเลนี้ เป็นอาวุธที่มีประสิทธิผลสำหรับใช้สู้รบในสงครามสมัยนี้ เนื่องจากรัฐต่าง ๆ มีการพึ่งพาอาศัยกันทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางนั่นเอง ตัวอย่างของสงครามที่มีการปิดล้อมทางทะเลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยให้สงครามยุติลงได้นั้น ก็คือ การปิดล้อมท่าเรือของพวกฝ่ายใต้โดยพวกฝ่ายเหนือในระหว่างสงครามกลางเมืองในอเมริกา และการปิดล้อมเยอรมนีโดยอังกฤษในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2

War Measures : Civil Defense

มาตรการทางสงคราม : การป้องกันพลเรือน

แผนการต่าง ๆ ของรัฐบาลเพื่อใช้ป้องกันพลเรือน เพื่อให้บริการสิ่งจำเป็น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และเพื่อดำเนินการให้การสนับสนุนการสงครามของชาติในกรณีที่ถูกศัตรูโจมตี กิจกรรมการเตรียมการป้องกันพลเรือนนี้ ก็จะรวมถึงการสร้างและการกำหนดที่ตั้งของที่หลบภัย การเก็บอาหารและเวชภัณฑ์ การวางแผนป้องกันวินาศภัย การจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคและการขนส่งในยามฉุกเฉิน การจัดตั้งระบบเตือนภัยและระบบตรวจจับรังสี สำหรับการป้องกันพลเรือนในโลกยุคปัจจุบันนี้ได้มีการพัฒนาโครงการป้องกันอาวุธนิวเคลียร์ อาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ และอาวุธแผ่อำนาจทำลายขนาดใหญ่ ตลอดจนอาวุธตามแบบประเภทต่าง ๆ

ความสำคัญ การป้องกันพลเรือนก่อนยุคปรมาณู ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการหาวิธีป้องกันศูนย์กลางประชาชนที่สำคัญ ๆ ของชาติเอาไว้ เพื่อประชาชนที่รอดชีวิตเหล่านี้จะได้ทำหน้าที่เป็นฐานสำหรับการระดมพลภายหลังจากถูกโจมตีได้ อย่างไรก็ดี เมื่อถึงยุคนิวเคลียร์นี้แล้ว การพัฒนาระบบการให้การสนับสนุนการปฏิบัติทางทหารของชาติที่จะช่วยเหลือพลเรือนหลังจากที่ถูกโจมตีที่เมืองสำคัญ ๆ มิได้เป็นจุดมุ่งหมายแรกของชาติอีกต่อไป นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงบางรายบอกว่า การป้องกันพลเรือนนี้เป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะให้เกิดความมั่นใจได้ว่าจะมีประชาชนในรัฐอย่างน้อยก็ส่วนหนึ่งสามารถรอดชีวิตจากการถูกโจมตีแล้วมาช่วยกันสร้างชาติหลังสงครามได้ แต่นักวิเคราะห์อีกพวกหนึ่งกลับบอกว่า การพยายามที่จะป้องกันพลเรือนที่ชาติต่าง ๆ ทำอยู่นี้ เป็นการกระทำที่ไร้ประโยชน์ เพราะถึงอย่างไรเสียเมื่อเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นมาก็ไม่มีทางจะป้องกันพลเรือนจากอาวุธนิวเคลียร์นี้ได้เลย ถึงแม้ว่าจะไม่มีมหาอำนาจนิวเคลียร์ชาติใดดำเนินการที่จะป้องกันบุคคลพลเรือนอย่างจริงจัง เพราะว่ามหาอำนาจนิวเคลียร์แต่ละชาตินิยมสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ตนเองด้วยการพัฒนาอาวุธที่จะนำมาใช้ป้องปรามการถูกโจมตีนี้มากกว่า แต่ก็มีชาติเป็นกลางสองชาติ คือสวีเดนและสวิตเซอร์แลนด์ ได้ทุ่มเทงบประมาณของชาติมากพอสมควรเพื่อนำมาใช้กับโครงการป้องกันพลเรือนนี้ และก็มีหลักฐานยืนยันว่าในปัจจุบันนี้ ทางฝ่ายสหภาพโซเวียตกำลังล้ำหน้าสหรัฐอเมริกาในด้านการเตรียมการป้องกันพลเรือนนี้

War Measures : Curfew

มาตรการทางสงคราม : การห้ามบุคคลพลเรือนออกนอกสถานที่

การห้ามบุคคลพลเรือนออกนอกสถานที่ คือ คำสั่งในยามฉุกเฉินหรือในยามสงคราม ที่จำกัดเสรีภาพใน การเคลื่อนที่ของบุคคลพลเรือนในเขตอันตราย โดยมีการระบุเวลาห้ามเอาไว้เป็นการแน่นอน การห้ามบุคคลพลเรือนออกนอกสถานที่นี้ ปกติแล้วจะกำหนดไม่ให้ออกมาในช่วงมืดค่ำ วิธีนี้ได้มีการนำไปใช้อย่างกว้างขวางในการสู้รบกับผู้ก่อการร้ายที่ใช้วิธีทำสงครามแบบกองโจร

ความสำคัญ การห้ามบุคคลพลเรือนออกนอกสถานที่นี้ ปกติแล้วผู้บังคับบัญชาทหารในระดับท้องถิ่นจะนำมาใช้เมื่อเห็นว่าการให้มีเสรีภาพในการเคลื่อนที่ของบุคคลพลเรือนจะมีอันตรายต่อความมั่นคงได้ มาตรการห้ามบุคคลพลเรือนออกนอกสถานที่นี้ ถือว่ามีความจำเป็นเพราะว่าในยามค่ำคืนหากไม่มีมาตรการป้องกันไว้ก่อน สาธารณูปโภคต่าง ๆ สิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านคมนาคม ท่อน้ำท่อประปาและท่อแก๊สอาจจะล่อแหลมถูกศัตรูทำลายได้ ยกตัวอย่างเช่น หลังจากที่สงครามระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นได้เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศให้พื้นที่ทางชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ เป็นเขตทหาร และได้กำหนดให้คนต่างด้าวชาติศัตรู และคนที่เกิดในสหรัฐฯแต่มีบรรพบุรุษเป็นคนญี่ปุ่นทุกคนอยู่แต่ในบ้านห้ามออกมานอกบ้านระหว่างเวลา 20.00 น. ถึง 06.00 น. มาตรการห้ามออกนอกบ้านครั้งนี้มีความสมเหตุสมผลและได้รับการยอมรับจากศาลสูงของสหรัฐฯ ด้วยเหตุผลว่ามีการคุกคามจากการโจมตีของญี่ปุ่น และมีคนสัญชาติสหรัฐฯ ที่มีบรรพบุรุษเป็นคนญี่ปุ่นจำนวนมากในพื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่ห้ามบุคคลพลเรือนออกนอกสถานที่นั้น

War Measures : Declaration of War

มาตรการทางสงคราม : การประกาศสงคราม

คำประกาศอย่างเป็นทางการที่กระทำโดยชาติหนึ่งชาติใด เพื่อป่าวประกาศว่าสถานะทางกฎหมายของการสู้รบกันได้เกิดขึ้นแล้วกับอีกชาติหนึ่ง ข้อกำหนดว่าจะต้องมีการประกาศสงครามเสียก่อนที่จะเริ่มรบกันได้นี้ เป็นพันธกรณีระหว่างประเทศที่ได้กำหนดไว้ในอนุสัญญากรุงเฮก ค.ศ. 1907 ว่าด้วยการเปิดฉากการรบ แต่ก็มีหลายรัฐที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ได้ปฏิเสธพันธกรณีที่ว่านี้ ส่วนรัฐเกิดใหม่หลังปี ค.ศ. 1907 อีกเกือบร้อยรัฐ ต่างก็ไม่ยอมรับพันธกรณีนี้อีกเหมือนกัน การประกาศสงครามมิได้มุ่งจะแจ้งไปที่ชาติที่เป็นศัตรูกันแต่เพียงอย่างเดียว แต่ว่าเป็นการแจ้งต่อชาติที่เป็นกลางให้ได้ทราบถึงสถานการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ด้วย และในคำประกาศสงครามก็ยังมีการกำหนดให้มีการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศบางอย่าง เป็นต้นว่า ให้รัฐบาลนำอำนาจฉุกเฉินพิเศษมาใช้ เป็นต้น

ความสำคัญ เมื่อมีแนวความคิดทางกฎหมายมากำหนดให้มีการประกาศสงครามก่อนที่จะเปิดฉากการรบกันไว้เช่นนี้เสียแล้ว ก็เป็นการทำลายโอกาสที่จะทำการโจมตีโดยไม่ทันให้ข้าศึกรู้ตัว แต่เมื่อระบบรัฐต้องการทำให้สงครามหรือการก้าวร้าวรุกรานนี้เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายเช่นนี้แล้ว รัฐต่าง ๆ ก็จึงได้หาทางหลีกเลี่ยงการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการกับศัตรูของตน และนิยมเรียกสงครามที่เกิดขึ้นนั้นว่าเป็นเพียงแค่ปฏิบัติการเชิงรับเพื่อป้องกันตนเองหรือเป็นปฏิบัติการเพื่อรักษาความสงบเท่านั้นเอง ถึงแม้ว่าจะมีสงครามต่าง ๆ เกิดขึ้นหลายครั้งหลายหนนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง แต่ก็ไม่มีสงครามครั้งใดที่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ ยิ่งเมื่อมีการสู้รบกันเองภายในประเทศอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์ โดยที่ได้กระทำกันในรูปแบบของการก่อการร้าย การก่อการปฏิวัติ และการทำสงครามกลางเมือง ก็ยิ่งจะไม่มีการนำการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการมาใช้ เนื่องจากว่า หากมีการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการแล้ว ก็จะเป็นการให้สิทธิการเป็นคู่สงครามอย่างเต็มที่แก่กองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลนั้น ยิ่งเมื่อได้มีการปฏิวัติในทางเทคโนโลยีการสงครามอย่างในปัจจุบันนี้ด้วยแล้วก็ยิ่งจะต้องรีบช่วยกันจำกัดขอบเขตของสงครามมิให้ขยายตัวออกไปโดยการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการนี้ ซึ่งเหตุการณ์อาจจะเลยเถิดไปถึงขั้นกลายเป็นสงครามเบ็ดเสร็จทำลายขนาดใหญ่ก็ได้ จะเห็นได้ว่า สงครามเกาหลี และสงครามเวียดนาม เป็นตัวอย่างของการสู้รบที่รัฐต่าง ๆ กระทำโดยที่มิได้มีการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด ในสหรัฐอเมริกานั้นประธานาธิบดีจะประกาศสงครามได้ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาคองเกรส (โดยมติร่วมสองสภา) เสียก่อน และในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา เคยมีการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการนี้แค่ห้าครั้งเท่านั้น

War Measures : Fifth Column

มาตรการทางสงคราม : แนวที่ห้า

ขบวนการบ่อนทำลาย เพื่อสร้างความอ่อนแอแก่ระบบการป้องกันของฝ่ายรัฐบาล ในระหว่างที่เกิดสงครามกลางเมือง หรือถูกโจมตีจากอีกชาติหนึ่ง คำว่า "fifth column" นี้เกิดขึ้นที่ประเทศสเปนในช่วงที่เกิดสงครามกลางเมือง กล่าวคือ กำลังฝ่ายกบฏของฟรานซิสโก ฟรังโก ได้ใช้กองทหาร 4 แนวเข้าโจมตีกองกำลังของฝ่ายรัฐบาลในกรุงมาดริด และได้ประกาศว่ามีทหารอีกแนวหนึ่งคือแนวที่ 5 เข้าไปเป็นไส้ศึกคอยให้การช่วยเหลืออยู่ในกรุงมาดริดเรียบร้อยแล้ว

ความสำคัญ พวกที่ทำตัวเป็นแนวที่ห้านี้อาจจะให้การสนับสนุนแก่กองกำลังต่อต้านรัฐบาลเนื่องจากอุดมการณ์ เชื้อชาติ การเมือง หรือศาสนา จึงร่วมกันกับแนวทางของฝ่ายกบฏนั้น ส่วนอีกพวกหนึ่งเป็นนักฉวยโอกาสด้วยเชื่อว่าฝ่ายกบฏจะเป็นฝ่ายชนะ การปฏิบัติการของกลุ่มทรยศควิสลิ่งขายชาติในนอร์เวย์ในระหว่างที่นาซีเยอรมันโจมตีนอร์เวย์เมื่อปี ค.ศ. 1940 เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นบทบาทของแนวที่ห้าในการบ่อนทำลายการต่อต้านของฝ่ายรัฐบาลได้เป็นอย่างดี

War Measures : Intervention

มาตรการทางสงคราม : การแทรกแซง

การที่รัฐหนึ่งเข้าไปยุ่งเกี่ยวในกิจการของอีกรัฐหนึ่งหรือของรัฐอีกกลุ่มหนึ่ง เพื่อให้มีผลกระทบต่อนโยบายภายในหรือนโยบายภายนอกของรัฐที่ถูกแทรกแซงนั้น กฎหมายระหว่างประเทศได้กำหนดไว้ว่า การแทรกแซงที่ถูกต้องตามกฎหมายสามารถกระทำได้ในกรณีต่อไปนี้ (1) ในกรณีที่รัฐผู้เข้าแทรกแซงได้รับสิทธิให้เข้าแทรกแซงได้โดยทางสนธิสัญา (2) ในกรณีที่รัฐละเมิดข้อตกลงที่ให้กำหนดนโยบายร่วมกันไว้แต่ได้กระทำการลงไปโดยฝ่ายเดียว (3) ในกรณีที่เกิดความจำเป็นจะต้องแทรกแซงเพื่อปกป้องพลเมืองของตน (4) ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อป้องกันตนเอง หรือ (5) ในกรณีที่มีรัฐใดรัฐหนึ่งละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ การแทรกแซงนี้ในกฎบัตรสหประชาชาติกำหนดไว้ว่าให้กระทำได้ ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการร่วมกันโดยประชาคมระหว่างประเทศ ต่อรัฐใดรัฐหนึ่งที่เป็นภัยคุกคามหรือทำลายสันติภาพ หรือปฏิบัติการก้าวร้าวรุกราน

ความสำคัญ ในทางประวัติศาสตร์ การแทรกแซงส่วนใหญ่จะเป็นการกระทำของชาติมหาอำนาจ ที่ต้องการจะขยายหรือคงอำนาจครอบงำเหนือรัฐที่อ่อนแอ ส่วนเหตุผลอื่น ๆ ของการเข้าแทรกแซง ได้แก่ เพื่อตอบโต้ต่อรัฐเล็ก ๆ ในการปกป้องสิทธิของคนสัญชาติตน เพื่อบังคับให้ใช้หนี้ เพื่อให้ผ่อนปรนในทางการค้า และเพื่อปกป้องทรัพย์สิน นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา องค์ประกอบทางด้านอุดมการณ์เป็นรากฐานสำคัญของการเข้าแทรกแซง โดยที่ชาติใหญ่ ๆ ใช้วิธีการแทรกแซงนี้เพื่อให้เกิดผลตามที่ตนประสงค์ในการกบฏและสงครามกลางเมืองในรัฐอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อหลัง ค.ศ. 1917 มหาอำนาจฝ่ายพันธมิตรได้ส่งกองทัพเข้าไปในรัสเซียเพื่อทำการปราบปรามการปฏิวัติบอลเชวิก ส่วนกรณีที่สหภาพโซเวียตส่งทหารเข้าไปปราบปรามฝ่ายกบฏในฮังการีเมื่อ ค.ศ. 1956 และในกรณีที่สหรัฐอเมริกาเข้าแทรกแซงในสาธารณรัฐโดมินิกันเมื่อปี ค.ศ. 1965 ล้วนมีเหตุจูงใจมาจากความกลัวว่า ฝ่ายตนจะสูญเสียรัฐสำคัญ ๆ เหล่านี้ให้แก่อีกค่ายที่มีความขัดแย้งทางอุดมการณ์กับตนอยู่นั้น สหภาพโซเวียตเข้าแทรกแซงในอัฟกานิสถานในช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1980 ก็มีเหตุจูงใจมาจากความเชื่อว่าหากตนไม่เข้าแทรกแซง ประเทศอัฟกานิสถานและประชาชนจะไม่เชื่อถือลัทธิคอมมิวนิสต์ และความยิ่งใหญ่ของสหภาพโซเวียต การแทรกแซงที่มีเหตุจูงใจมาจากการเมืองและอุดมการณ์นี้ มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นเมื่อบทบาทที่ความยิ่งใหญ่ของมหาอำนาจถูกคุกคามในเขตอิทธิพลของตน ส่วนการแทรกแซงโดยรัฐเล็กรัฐน้อยในกลุ่มประเทศโลกที่สามเข้าไปในดินแดนของรัฐเพื่อนบ้าน ก็ได้เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำอีกเช่นกัน

War measures : Lend-Lease

มาตรการทางสงคราม : เลนด์ - ลีส

โครงการให้ความช่วยเหลือกันในหมู่ชาติต่าง ๆ ที่ทำการสู้รบกับฝ่ายอักษะในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1947 โดยได้มีการออกรัฐบัญญัติเลนด์ - ลีสนี้เพื่อใช้ยกเลิกข้อกำหนดต่าง ๆ ที่ว่าด้วย "นโยบายซื้อขายด้วยเงินสด" ในรัฐบัญญัติความเป็นกลางปี ค.ศ. 1937 รัฐบัญญัติเลนด์ - ลีสนี้ได้ให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้สามารถขายถ่ายโอน แลกเปลี่ยน ให้เช่า ให้ยืม หรือการกระทำอื่นใดกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกี่ยวข้องกับการให้การสนับสนุนแนวทางของฝ่ายพันธมิตร รวมทั้งในเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ อาหาร วัตถุดิบ เครื่องจักรกล และสินค้าทางยุทธศาสตร์อื่น ๆ ภายใต้บทบัญญัติของรัฐบัญญัติฉบับนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯได้ทำเป็นข้อตกลงฝ่ายบริหารกับชาติพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อทำบัญชีงบดุลย์ร่วมกัน ที่สหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือในการร่วมกันทำสงคราม และสะดวกต่อการปฏิบัติภายหลังสงครามนั้นด้วย

ความสำคัญ โครงการเลนด์ - ลีส ซึ่งสหรัฐอเมริกานำมาดำเนินการในช่วงเก้าเดือนก่อนที่สหรัฐฯ จะเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ เป็นจุดเปลี่ยนแปลงของสหรัฐฯ จากการที่เคยยึดนโยบายเป็นกลางมาเป็นการให้การสนับสนุนอย่างจริงจังแก่ฝ่ายพันธมิตร โครงการนี้เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ฝ่ายพันธมิตร โดยได้ให้การสนับสนุนทางด้านทรัพยากรทางเศรษฐกิจและทางทหารที่ฝ่ายพันธมิตรขาดแคลนและมีความต้องการเป็นอย่างยิ่ง ตลอดจนให้การสนับสนุนในด้านเสริมสร้างแนวทางร่วมกันในการสงครามครั้งนี้ด้วย ภายใต้โครงการนี้ ฝ่ายสหรัฐฯได้กลายเป็น”คลังของฝ่ายประชาธิปไตย" โดยได้จัดหาสินค้าและกระสุนปืนต่าง ๆ ให้แก่ฝ่ายพันธมิตรระหว่างปี ค.ศ. 1941-1945 มีมูลค่ารวมกันมากกว่าห้าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เฉพาะที่จัดหาให้แก่สหภาพโซเวียตมีมูลค่าเกินกว่าหนึ่งหมื่นหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐฯ หลังสงครามยุติได้เกิดการโต้เถียงกันระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียตเกี่ยวกับการจ่ายหนี้สินตามโครงการเลนด์ - ลีสนี้ที่สหภาพโซเวียตเป็นหนี้สหรัฐฯอยู่ จนกลายเป็นความขัดแย้งนำไปสู่การเกิดสงครามเย็นระหว่างกันในเวลาต่อมา หลังจากสงครามเลิกแล้วกว่า 40 ปี ประเทศต่าง ๆ ที่เคยรับการช่วยเหลือในโครงการเลนด์ - ลีสนี้ส่วนใหญ่ก็ยังผ่อนชำระหนี้สินเหล่านี้อยู่ทุกปี

War Measures : Mobilization

มาตรการทางสงคราม : การระดมพล

ปฏิบัติการต่าง ๆ ที่รัฐใดรัฐหนึ่งกระทำเพื่อให้ตนอยู่ในสภาวะเตรียมพร้อมที่จะเข้าสงครามได้ การระดมพลอาจกระทำได้ดังนี้ คือ (1)สั่งทหารเตรียมพร้อม (2) เรียกทหารกองหนุนเข้ากองประจำการ (3) ปิดพรมแดน (4) ขับหรือควบคุมคนต่างด้าวชาติศัตรู (5) ป้องกันการก่อวินาศกรรม (6) ประกาศห้ามบุคคลพลเรือนออกนอกสถานที่ (7) ประกาศใช้อำนาจสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อนำมาดำเนินกับการเศรษฐกิจของชาติ เป็นต้น

ความสำคัญ ชาติในสมัยใหม่ทุกชาติ จะมีการพัฒนาแผนระดมพลและการเตรียมการต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้าเพื่อให้สามารถนำออกใช้ได้ เมื่อยามที่มีภัยคุกคามจากสงคราม การระดมพลนี้เป็นสิ่งบอกเหตุว่าการเจรจาทางการทูตประสบความล้มเหลว และใกล้จะเกิดการสู้รบกันทุกขณะแล้ว การระดมพลของชาติหนึ่งชาติใดก็จะส่งผลให้อีกชาติหนึ่งต่อต้านการระดมพลตามมา และเป็นการยั่วยุให้ศัตรูปฏิบัติการทางทหารได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อรัสเซียได้เริ่มระดมพลทหารกองหนุนเมื่อตอนสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น ฝ่ายผู้นำเยอรมันได้ตัดสินใจว่า คงจะรอผลการเจรจาต่อไปไม่ได้อีกแล้ว ได้สั่งให้เริ่มการโจมตีทันที ในทางตรงกันข้าม การระดมพลในช่วงวิกฤติก็อาจจะช่วยไม่ให้เกิดสงครามได้ เพราะเป็นการป้องปรามฝ่ายที่จะรุกรานได้เหมือนกัน การระดมพลสำหรับทำสงครามนิวเคลียร์ในโลกยุคปัจจุบันนี้ สามารถทำได้ในไม่กี่นาที โดยสั่งให้มีการเตรียมพร้อมในระบบยิงหรือปล่อยอาวุธนิวเคลียร์ได้ในทันที

War Measures : Reprisal

มาตรการทางสงคราม : การตอบโต้

มาตรการบังคับที่ไม่ถึงกับทำสงคราม ที่ดำเนินการโดยรัฐหนึ่งรัฐใดต่ออีกต่อรัฐหนึ่งเพื่อเป็นการชดเชยต่อความผิด หรือเพื่อเป็นการลงโทษต่อการกระทำอาชญากรรมระหว่างประเทศ การตอบโต้อาจทำได้ดังนี้ คือ การแสดงพลัง การคว่ำบาตร การปิดล้อม การปิดล้อมทางทะเลอย่างสันติ การห้ามการเคลื่อนย้ายทรัพย์สิน หรือการยึดทรัพย์สินของรัฐผู้กระทำผิด

ความสำคัญ ในทางประวัติศาสตร์นั้น การโต้ตอบต่าง ๆ ส่วนใหญ่แล้วรัฐมีอำนาจมาก ๆ จะนำไปใช้กับรัฐที่อ่อนแอ เพื่อเรียกค่าชดเชยกับการกระทำผิดกฎหมาย แต่ว่าก่อนจะใช้วิธีการตอบโต้นี้ รัฐมีพันธกรณีที่จะต้องหาทางเรียกค่าชดเชยนี้ด้วยการใช้การแก้ไขกรณีพิพาทโดยสันติวิธี ปฏิบัติการตอบโต้นี้ห้ามนำมาใช้หากจะเป็นอันตรายกับฝ่ายที่สาม หรือหากเป็นการลงโทษที่ทำเกินเหตุเมื่อเทียบกับความเสียหายที่ฝ่ายตนได้รับ การตอบโต้ที่กระทำในรูปปฏิบัติการทางทหารต่อรัฐที่กระทำความผิดนั้นไม่อนุญาตให้กระทำได้อีกต่อไปภายใต้บทบัญญัติของกฎบัตรสหประชาชาติที่ให้แก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติวิธี และให้ใช้ระบบความมั่นคงร่วมกัน

War Measures : Sabotage

มาตรการทางสงคราม : การลอบก่อวินาศกรรม

การทำลายสิ่งอำนวยความสะดวก ทางด้านการทหาร การอุตสาหกรรม การคมนาคม และการขนส่ง ในดินแดนมาตุภูมิของศัตรู หรือในดินแดนที่ถูกศัตรูยึดครอง เป็นการดำเนินการโดยพวกแนวที่ห้า พวกกองโจร หรือพวกสายลับมืออาชีพ การปฏิบัติการลอบก่อวินาศกรรมนี้ มีเป้าหมายเพื่อลดการผลิตอุปกรณ์ทางทหาร เพื่อตัดเส้นทางคมนาคม เพื่อทำลายขวัญและกำลังใจของฝ่ายศัตรู และเพื่อบีบให้ศัตรูเรียกทหารจากแนวรบกลับมา เพื่อทำการปราบปรามการลอบก่อวินาศกรรมในเมือง คำว่า sabotage นี้มาจากคำว่า sabot (แปลว่า รองเท้าไม้)ในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ ๆ คนงานฝรั่งเศสจะใช้รองเท้าไม้โยนลงไปในเครื่องจักรสมัยใหม่ที่นำมาใช้แทนแรงคนงาน จนทำให้เครื่องจักรเสียหายเพื่อว่าพวกตนจะได้ไม่ตกงาน

ความสำคัญ การลอบก่อวินาศกรรมได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการรบในสงครามสมัยใหม่ เมื่อสงครามได้กลายเป็นความขัดแย้งด้านอุดมการณ์มากยิ่งขึ้นเช่นนี้แล้ว พลเรือนทุกคนที่มีความผูกพันไม่เห็นด้วยกับปรัชญาของฝ่ายศัตรู ก็อาจจะมีศักยภาพเป็นนักลอบก่อวินาศกรรมขึ้นมาได้ ความพยายามที่จะป้องกันการลอบก่อวินาศกรรมในดินแดนยึดครองโดยวิธีการสังหารหมู่ประชาชนพลเรือน อย่างที่พวกนาซีเคยทำในทวีปยุโรปที่ตนเข้าไปยึดครองในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น มีแนวโน้มให้มีการปฏิบัติการตอบโต้เพราะเป็นการสร้างความจงเกลียดจงชังให้แก่ฝ่ายศัตรู ทำให้ฝ่ายศัตรูหันมาใช้วิธีการลอบก่อวินาศกรรมนี้ ในปฏิบัติการสงครามกองโจร อย่างเช่นกรณีของสงครามเวียดนามเป็นต้นนั้น เป็นการยากยิ่งที่จะดำเนินมาตรการป้องกันกับผู้ลอบก่อวินาศกรรม เพราะว่ากองกำลังฝ่ายศัตรูที่ทำหน้าที่ลอบก่อวินาศกรรมเหล่านี้ มีการกระจายกำลังอยู่ทั่วประเทศ และแยกไม่ออกระหว่างผู้ลอบก่อวินาศกรรมกับประชาชนธรรมดา การปราบปรามการก่อการร้ายของพวกกองโจรในเวียดนาม (ซึ่งมักจะปราบไม่สำเร็จ) ก็จะใช้วิธีการต่าง ๆ อย่างเช่น อพยพประชาชนทั้งหมดออกจากพื้นที่ที่มีอาณาบริเวณกว้างขวางมาก ๆ มีการตรวจบัตรประชาชนที่ใช้วิธีประทับลายนิ้วมือแทนลายเซ็น มีการนำคนที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ลอบก่อวินาศกรรมนับพัน ๆ คนไปสอบสวนเพิ่มเติม เป็นต้น

War Measures : Stockpiling

มาตรการทางสงคราม : การสต๊อกสิ่งของ

การสะสมสิ่งของสำรองต่าง ๆ ทั้งที่เป็นวัตถุดิบ และสิ่งของสำเร็จรูปต่าง ๆ เพื่อนำออกใช้ในยามที่เกิดสงคราม ซึ่งในตอนนั้นแหล่งป้อนวัตถุดิบและสิ่งของสำเร็จรูปเหล่านี้อาจจะถูกตัดขาดไม่สามารถส่งป้อนให้ได้ การสต๊อกสิ่งของนี้อาจจะช่วยให้ชาติรอดพ้นจากการถูกปิดล้อมทางทะเล จากการถูกควบคุมทะเล หรือจากการถูกตัดขาดจากแหล่งป้อนทรัพยากรและวัตถุดิบต่าง ๆ ได้ ในสงครามตามรูปแบบปกติยังไม่ถึงขั้นเป็นสงครามนิวเคลียร์อย่างในสมัยนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีโภคภัณฑ์วิกฤต ต่าง ๆ มาป้อนโรงงาน มีอาหารต่าง ๆ มาเลี้ยงดูกำลังพล และประชาชนพลเรือนในแนวหลัง ตลอดจนต้องนำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไปสนับสนุนแก่พันธมิตรของตน

ความสำคัญ การสต๊อกยุทโธปกรณ์วิกฤตต่าง ๆ เอาไว้นี้จะทำให้กองทัพมีศักยภาพในการสู้รบในสงครามได้นานโดยไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ ยกตัวอย่างเช่น เยอรมนีในช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1930 ได้สต๊อกวัสดุยุทธศาสตร์ไว้มากในการเตรียมการทำสงคราม ทั้งนี้เพื่อมิให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งในครั้งนั้นฝ่ายพันธมิตรได้ใช้วิธีปิดล้อมทางทะเล จนเยอรมนีต้องยอมแพ้ในที่สุด อย่างไรก็ดี ในปี ค.ศ. 1945 ได้เกิดการขาดแคลนยุทโธปกรณ์วิกฤต โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ น้ำมัน และอาหาร เป็นเหตุให้กองทัพเยอรมันพ่ายแพ้อีกครั้งหนึ่ง ในช่วงสงครามเย็น ฝ่ายสหรัฐอเมริกาได้สต๊อกวัสดุยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ไว้มากกว่า 75 ชนิด ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสต๊อกสิ่งของไว้มากที่สุดในโลก โครงการสต๊อกสิ่งของไว้มาก ๆ ที่ดำเนินการโดยชาติที่เจริญแล้วนี้ ก็ได้มีส่วนช่วยประเทศด้อยพัฒนาด้วยเหมือนกัน คือช่วยให้มีการเพิ่มอุปสงค์ในโภคภัณฑ์ขั้นพื้นฐาน (วัตถุดิบและอาหารต่าง ๆ) จากประเทศด้อยพัฒนา ช่วยให้ราคาสินค้าส่งออกของประเทศด้อยพัฒนาสูงขึ้น และช่วยให้ประชาชนในประเทศด้อยพัฒนามีอาหารบริโภคในยามขาดแคลนเนื่องจากมีอาหารล้นสต๊อกอยู่ในประเทศที่เจริญแล้วเหล่านี้ที่พร้อมจะส่งไปช่วยเหลือได้ตามโครงการต่างๆอย่างเช่น โครงการอาหารอเมริกันเพื่อสันติภาพ เป็นต้น นอกจากนี้แล้วการสต๊อกสิ่งของไว้มาก ๆ นี้ ก็ยังเป็นการเสริมความสามารถของชาติในการทำสงครามทางเศรษฐกิจในยามสงบได้ด้วย คือ โดยวิธีระงับการส่งเข้าสินค้าหรือโดยวิธีนำสินค้าทุ่มตลาดเพื่อให้เกิดผลกระทบกับกระแสการค้าและราคาสินค้าในตลาด

War Measures : Strategic Materials

มาตรการทางสงคราม : วัสดุยุทธศาสตร์

วัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ทั้งกึ่งสำเร็จรูปและสำเร็จรูปแล้ว ที่มีความจำเป็นสำหรับการสู้รบในสงครามสมัยใหม่ การมีวัสดุยุทธศาสตร์ต่าง ๆ เป็นองค์ประกอบสำคัญในการกำหนดกำลังอำนาจของชาติ วัตถุต่าง ๆ ที่พิจารณากันว่าเป็นวัสดุยุทธศาสตร์นี้ มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็ว พร้อม ๆกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีในการสงครามที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1940 เป็นต้นมา วัสดุยุทธศาสตร์ที่วิกฤตมาก ๆ ได้แก่ อาหาร อลูมิเนียม แคดเมียม ทองแดง แมกเนเซียม ดีบุก ทังสเตน ปรอท โคบอลท์ ยูเรเนียม เพชร ปิโตรเลียม พลวง และตะกั่ว เป็นต้น

ความสำคัญ การมีวัสดุยุทธศาสตร์ต่าง ๆ เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในกำลังอำนาจของชาติ เมื่อยามที่ชาติจะต้องทำสงครามที่ยืดเยื้อยาวนาน ประเทศต่าง ๆ อาจจะเสริมสร้างระบบการป้องกันตนเอง (1) ด้วยการดำเนินนโยบายสต๊อกวัสดุยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ไว้มาก ๆ (2) ด้วยการพัฒนาวัสดุสังเคราะห์ต่าง ๆ เพื่อเป็นการลดหรือไม่ต้องใช้วัสดุธรรมชาติชนิดนั้น ๆ (3) ด้วยการให้เงินทุนอุดหนุนการผลิตวัสดุยุทธศาสตร์ต่างๆ ภายในประเทศในยามสันติ (4) ด้วยการผูกความสัมพันธ์ทางการเมืองให้ใกล้ชิดกับชาติต่าง ๆ ที่มีวัสดุยุทธศาสตร์สำคัญ ๆ เหล่านี้ และ (5) ด้วยการชิงซื้อตัดหน้าเพื่อมิให้วัสดุยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ตกไปเป็นของฝ่ายศัตรู สหรัฐอเมริกาได้ใช้วิธีการต่าง ๆ ดังว่ามานี้ และได้สต๊อกวัสดุยุทธศาสตร์นี้ไว้จำนวนมาก ได้พัฒนาอุตสาหกรรมเพชรสังเคราะห์ ได้ให้เงินทุนอุดหนุนการผลิตปิโตรเลียมและยูเรเนียมในประเทศ และได้พยายามดำรงความสัมพันธ์อันดีกับประเทศในแถบละตินอเมริกาต่าง ๆ ที่มีวัสดุยุทธศาสตร์เหล่านี้มาก ๆ

War Measures : Terrorism

มาตรการทางสงคราม : ระบบก่อการร้าย

กิจกรรมต่าง ๆ ของตัวแสดงที่เป็นรัฐ หรือของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ ซึ่งใช้เทคนิควิธีความรุนแรง ในความพยายามเพื่อบรรลุถึงจุดหมายทางการเมือง วิธีต่าง ๆ ที่ผู้ก่อการร้ายนำมาใช้ ได้แก่ การจี้เครื่องบิน การยึดตัวประกัน การก่อวินาศกรรม การวางระเบิด การปล้นธนาคาร การลักพาตัวทางการเมือง และการลอบสังหาร องค์การก่อการร้ายต่าง ๆ มีลักษณะพิเศษ คือ จะพยายามเผยแพร่กิจกรรมของตนให้เป็นที่สนใจของสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ และของประชาชนทั่วไป องค์การก่อการร้ายส่วนใหญ่จะยึดแนวทางทางการเมืองแบบรุนแรง เช่น กลุ่มฝ่ายซ้ายที่พยายามยุแหย่ให้เกิดการปฏิวัติหรือสงครามกลางเมือง และกลุ่มฝ่ายขวาที่พยายามปกป้องระบบเดิม ๆ เอาไว้ แต่ก็มีหลายองค์การอีกเหมือนกัน ที่เป็นประเภทอุดมคตินิยม คือถือว่าพวกตนเป็นพวกรักชาติสุดชีวิตจิตใจ หรือเป็นผู้ปกป้องสิทธิของประชาชน ในช่วงเวลา 40 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงแล้ว มีองค์การปลดปล่อยหลายองค์การในดินแดนอาณานิคมที่ยังไม่ได้เอกราช ได้ใช้ยุทธวิธีก่อการร้ายนี้ในความพยายามที่จะหนุนขบวนการเรียกร้องเอกราชของฝ่ายตน ส่วนกลุ่มก่อการร้ายทางชาติพันธุ์อีกหลายกลุ่ม ก็ได้ใช้เทคนิควิธีความรุนแรงในระบบหรือนอกแบบต่าง ๆ ในความพยายามที่จะแบ่งแยกดินแดนภายในรัฐ และก็มีบางองค์การใช้ปฏิบัติการรุนแรงนี้ มุ่งไปที่นักการทูตต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ทางทหาร และผู้บริหารบรรษัทต่าง ๆ โดยมีความเชื่อว่าพวกตนกำลังต่อสู้เพื่อปลดปล่อยประเทศตนจากการครอบงำของต่างชาติ หรือของลัทธิล่าอาณานิคมแบบใหม่

ความสำคัญ พวกผู้ก่อการร้ายในทุกวันนี้ มักจะเป็นผู้นำเลือดรักชาติ และวีรบุรุษแห่งชาติในอนาคต ซึ่งจากข้อเท็จจริงนี้เอง จึงทำให้ยากที่ประชาคมในประเทศ และประชาคมระหว่างประเทศจะทำการปราบปรามพวกก่อการร้ายนี้ได้ การใช้ยุทธวิธีการก่อการร้ายโดยกลุ่มต่าง ๆ เพื่อบรรลุถึงจุดมุ่งหมายทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องเคยมีตัวอย่างมากมายในประวัติศาสตร์ แต่ที่มีการนำวิธีการนี้มาใช้กันในปัจจุบันนี้มาก ก็เนื่องจากว่าได้มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านการขนส่งให้ทันสมัยกว่าแต่ก่อนมาก และก็สามารถหาอาวุธยุทโธปกรณ์และอุปกรณ์ระเบิดต่าง ๆ ได้โดยง่าย กระนั้นก็ดี กิจกรรมก่อการร้ายนี้ก็ยังไม่ถึงกับเกิดขึ้นบ่อยและมีระดับความรุนแรงมากมาย ได้แต่มีการกระพือข่าวขึ้นมา และก็มีอยู่บ่อยๆ ที่เมื่อมีเหตุการณ์วางระเบิดหรือมีการสังหารทางการเมืองเกิดขึ้นแล้ว ก็จะมีองค์การต่าง ๆ สองหรือสามองค์การมาอ้างว่าฝ่ายตนเป็นผู้กระทำ และมีกลุ่มต่าง ๆ ที่มิใช่ตัวแสดงที่เป็นรัฐได้นำยุทธวิธีการก่อการร้ายนี้มาใช้ ซึ่งที่โด่งดังที่สุด ก็คือ องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (พีแอลโอ) ในตะวันออกกลาง กองทัพสาธารณรัฐไอริช (ไออาร์เอ) ในอุลสเตอร์ แล้วก็ยังมีหน่วยกล้าตายทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายปฏิบัติการอยู่ใประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มละตินอเมริกาหลายประเทศ นอกจากนี้แล้ว ก็ยังมีรัฐบาลของอีกหลายชาติได้ใช้การก่อการร้ายรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุถึงจุดหมายทางการเมืองของตน อย่างเช่น การโจมตีทางอากาศ การสังหารหมู่ประชาชน การจองจำคุมขัง เป็นต้น และได้มีความพยายามโดยประชาคมระหว่างประเทศที่จะประณามปฏิบัติการก่อการร้ายเหล่านี้โดยผ่านทางสหประชาชาติ แต่ก็ยังมีผู้นำชาวโลกส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการใช้สงครามกองโจรและระบบการก่อการร้ายนี้เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายทางการเมืองที่พวกตนเองมีความเห็นคล้อยตาม สำหรับผู้ที่จะต้องเกี่ยวข้องกับระบบการก่อการร้ายนี้ก็จะมีปัญหาสำคัญให้ตัดสินใจว่าควรจะใช้นโยบายความรุนแรงตอบโต้ (แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน) ต่อผู้ก่อการร้ายเหล่านี้ดี หรือว่าจะใช้นโยบายอะลุ้มอล่วยเพื่อสร้างความปรองดองทางการเมืองในชาติดี

War Policy : Strategic Defense Initiative (SDI)

นโยบายทางสงคราม :โครงการการป้องกันทางยุทธศาสตร์ (เอสดีไอ)

โครงการวิจัยและพัฒนาสำคัญ ที่ริเริ่มขึ้นมาโดยรัฐบาลของประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะจัดตั้งฉากป้องกันเพื่อใช้ป้องกันสหรัฐอเมริกาจากการถูกโจมตีด้วยอาวุธปล่อยของสหภาพโซเวียต โครงการเอสดีไอ ซึ่งนิยมเรียกกันว่าโครงการ "สตาร์วอร์" นี้เป็นการทุ่มเทความพยายามที่จะพัฒนาอาวุธเชิงรับชนิดใหม่ อย่างเช่น ลำแสงเลเซอร์และลำแสงอนุภาค ที่สามารถทำลายอาวุธปล่อยของสหภาพโซเวียตตั้งแต่ช่วงที่เพิ่งขับเคลื่อนจากฐานยิง หรือในช่วงที่อยู่ในอวกาศ โครงการนี้คาดว่าจะต้องใช้เงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์ และเมื่อผนวกค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเข้าไปด้วยแล้ว ก็จะต้องใช้เงินนับล้านล้านดอลลาร์เลยทีเดียว ประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน บอกว่า ความมุ่งหมายหลักของโครงการเอสไอดีนี้ ก็เพื่อจะเปลี่ยนแปลงจากนโยบาย "ความเชื่อถือในการทำลายร่วมกัน (แมด)" ไปเป็นนโยบาย "อยู่รอดร่วมกัน"

ความสำคัญ โครงการป้องกันทางยุทธศาสตร์ (เอสดีไอ) ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตั้งแต่แรกเริ่ม ฝ่ายที่ให้การสนับสนุนโครงการ คือ คณะรัฐบาลของประธานาธิบดี เรแกน พวกนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในโครงการเอสดีไอ บรรษัทต่าง ๆ ที่ได้รับสัมปทานในการวิจัยและพัฒนาโครงการ เหล่าสมาชิกสภาคองเกรสและสาธารณชน ซึ่งเชื่อว่าระบบนี้สามารถใช้การได้ ส่วนฝ่ายที่คัดค้านโครงการเอสดีไอนี้ ส่วนใหญ่ก็มาจากพวกนักวิทยาศาสตร์ซึ่งปฏิเสธข้ออ้างที่ว่าระบบนี้จะทำงานได้ตามโครงการที่วางไว้ พวกนักวิเคราะห์ซึ่งเชื่อว่าโครงการเอสดีไอนี้จะไปเพิ่มอัตราการเสี่ยงให้เกิดสงครามนิวเคลียร์มากยิ่งขึ้น และสมาชิกคองเกรสและสาธารณชนที่เชื่อว่า โครงการเอสดีไอนี้จะทำให้เกิดปัญหางบประมาณขาดดุล และจะไปเบียดบังเอางบประมาณที่จำเป็นสำหรับแก้ปัญหาสังคมต่าง ๆ มาใช้กับโครงการ ส่วนสหภาพโซเวียตได้คัดค้านโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยอ้างว่าเป็นการละเมิดสนธิสัญญา "ซอลท์วันเอบีเอ็ม" และเป็นการเพิ่มอันตรายจากการเกิดมหาสงครามนิวเคลียร์ ในการคัดค้านทางฝ่ายโซเวียตก็ได้เสนอแนะแนวทางยืดหยุ่น โดยให้มีการเจรจากันในเรื่องการควบคุมอาวุธและในการลดอาวุธเพื่อแลกเปลี่ยนกับการยุติโครงการพัฒนาและติดตั้งระบบเอสดีไอนี้ ถึงแม้ว่าประธานาธิบดีเรแกนและผู้สนับสนุนโครงการเอสดีไอส่วนหนึ่งจะถือว่าระบบเอสดีไอนี้เป็นการสร้างระบบป้องกันที่สมบูรณ์แบบที่สุด แต่ก็มีบางคนซึ่งถึงแม้จะสนับสนุนโครงการแต่ก็ยังไม่วายตั้งคำถามว่าระบบนี้จะสามารถทำลายอาวุธปล่อยของสหภาพโซเวียตได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดแน่หรือ พวกที่ให้การสนับสนุนโครงการนี้มีรากฐานทางความคิดว่า โครงการเอสดีไอนี้จะช่วยให้สหรัฐฯ ใช้ขีดความสามารถในการป้องกันตนเองนี้เพื่อทำการโจมตีโต้กลับได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้ระบบการป้องปรามในการแข่งขันทางอาวุธนิวเคลียร์ยังสามารถดำเนินอยู่ได้ต่อไป

War Policy : Unconditional Surrender

นโยบายทางสงคราม : ยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไข

การยุติการสู้รบโดยไม่มีการกำหนดเงื่อนไข ในการยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไขนี้ทางชาติผู้แพ้จะยอมศิโรราบอยู่ภายใต้อำนาจบงการของชาติผู้ชนะชาติเดียวหรือหลายชาติก็ได้ ซึ่งชาติผู้ชนะนี้ก็อาจจะกำหนดเงื่อนไขหรือข้อเรียกร้องตามกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่งที่เห็นว่าเป็นการสมควรด้วยก็ได้ การยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไขนี้ อย่างน้อยที่สุดก็จะมีการเข้ายึดครองดินแดนของรัฐผู้แพ้นั้น มีการลงโทษอาชญากรสงคราม มีการเรียกค่าปฏิกรรมสงคราม และมีการเปลี่ยนแปลงทางพื้นฐาน ในสถาบันทางการเมือง สถาบันทางเศรษฐกิจ และสถาบันทางสังคมต่าง ๆ ให้เป็นไปตามแนวทางที่รัฐผู้ชนะต้องการ

ความสำคัญ การที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายในระหว่างทำสงครามกันอยู่นั้น ได้ประกาศนโยบายออกมาว่า หากมีการยอมแพ้เกิดขึ้น ก็จะต้องเป็นการยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไข เช่นนี้ก็จะทำให้การสู้รบยืดเยื้อจนกว่าว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะหมดแรงสิ้นฤทธิ์และกองทัพของตนจะถึงแก่การพินาศย่อยยับแล้วเท่านั้น หลักของการยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไขนี้ เป็นลักษณะพิเศษของแนวความคิดของสงครามเบ็ดเสร็จในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างจากสงครามจำกัดที่ต่อสู้กันโดยมีจุดมุ่งหมายจำกัดในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ยกตัวอย่างเช่น ในสงครามโลกครั้งที่ 2 นโยบายของฝ่ายพันธมิตรที่เรียกร้องให้ฝ่ายมหาอำนาจอักษะยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไขนี้ ประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี. รูสเวลท์ ได้เป็นผู้ประกาศในการประชุมที่เมืองคาซาบลันคาเมื่อปี ค.ศ. 1943 แต่ผู้วิจารณ์นโยบายนี้ต่างก็บอกว่า เป็นนโยบายที่ขัดต่อหลักความจริงที่ไม่ยอมให้มหาอำนาจผู้แพ้สงครามคงบทบาทในการดุลอำนาจในช่วงหลังสงคราม เป็นการทำสงครามให้ยืดเยื้อโดยที่ฝ่ายอักษะไม่มีทางเลือกอื่นนอกเสียจากว่าจะต้องสู้จนถึงที่สุด และเป็นเหตุให้เกิดความจำเป็นต้องทิ้งระเบิดปรมาณูที่สองเมืองของญี่ปุ่น คือ เมืองฮิโรชิมา และเมืองนางาซากิ

War Policy :Yalta Agreement

นโยบายทางสงคราม : ข้อตกลงที่เมืองยัลตา

ข้อตกลงของฝ่ายบริหารในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งได้มีการลงนามกันในที่ประชุมสุดยอดของ 3 ผู้ยิ่งใหญ่ (คือ ประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี. รูสเวลท์ แห่งสหรัฐอเมริกา นายกรัฐมนตรี วิสตัน เชอร์ชิลล์ แห่งอังกฤษ และนายกรัฐมนตรี โยเซฟ สตาลิน แห่งสหภาพโซเวียต) ณ เมืองยัลตา ในสาธารณรัฐไครเมียของรัสเซีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1945 เพื่อบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับ การเข้ายึดครองเยอรมนี อนาคตของดินแดนในยุโรปตะวันออก ยุทธศาสตร์ร่วมกันเพื่อพิชิตญี่ปุ่นและเรื่องสำคัญ ๆ เกี่ยวกับองค์การสหประชาชาติที่เสนอให้มีการจัดตั้งขึ้นมา ส่วนการตัดสินใจเกี่ยวกับสงครามที่สำคัญมีดังนี้ (1)ให้เยอรมนียอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไข (2) ให้นำอาชญากรสงครามเยอรมันขึ้นศาลพิจารณาคดีโดยเร็ว (3)ให้มีการเรียกค่าปฏิกรรมสงคราม (4) ให้ประเทศต่าง ๆ ที่ถูกปลดปล่อยแล้วในแถบยุโรปตะวันออกได้จัดการเลือกตั้งตามแบบเสรีประชาธิปไตย (5) ให้มีการเปลี่ยนแปลงพรมแดนของโปแลนด์และรัสเซียเสียใหม่โดยให้ขยับเส้นพรมแดนไปทางทิศตะวันตกทางแม่น้ำออกเดอร์และแม่น้ำนีสเซซึ่งในการนี้ฝ่ายเยอรมนีจะต้องยอมสละดินแดนส่วนนี้ และ (6) ให้สหภาพโซเวียตมาร่วมกับฝ่ายพันธมิตรทำสงครามกับญี่ปุ่นภายในสามเดือนหลังจากสงครามในยุโรปยุติลงแล้ว ส่วนการตัดสินใจเกี่ยวกับองค์การสหประชาชาติที่เสนอให้มีการจัดตั้งขึ้นมานั้นได้ตกลงกันดังนี้ (1) ให้เปิดสมาชิกภาพแรกเริ่มในองค์การสหประชาชาติที่ตั้งขึ้นมาใหม่นี้แก่ทุกรัฐที่ได้ประกาศสงครามกับมหาอำนาจฝ่ายอักษะเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1945 (2) ให้สหภาพโซเวียตได้สมาชิกภาพ 3 ที่นั่งในสหประชาชาติ (คือ สหภาพโซเวียต 1 ที่นั่ง ยูเครน 1 ที่นั่ง และไบโลรัสเซีย1ที่นั่ง) แทนที่จะเป็น 16 ที่นั่งตามที่สตาลินร้องขอ (3)ให้จัดตั้งระบบภาวะทรัสตรีแทนข้อตกลงระบบอาณัติขององค์การสันนิบาตชาติ และ (4) ไม่ให้นำอำนาจยับยั้งในคณะมนตรีความมั่นคงมาใช้กับ "การตัดสินใจเรื่องวิธีการดำเนินการ" และมิให้คู่กรณีพิพาทนำเอาอำนาจยับยั้งนี้มาใช้ขัดขวางการพิจารณาของคณะมนตรีความมั่นคง

ความสำคัญ ข้อตกลงที่ยัลตานี้ ได้ช่วยจัดโครงสร้างทางอำนาจและเขตอิทธิพลต่าง ๆในยุโรปตะวันออกและในเอเชียเสียใหม่ และด้วยเหตุที่มิได้มีการลงนามเช่นเดียวกับสนธิสัญญาสันติภาพทั่ว ๆ ไปเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ดังนั้น ข้อตกลงที่เมืองยัลตานี้จึงได้กลายเป็นเครื่องมือระดับพื้นฐานใช้เพื่อประสานนโยบายของฝ่ายพันธมิตรผู้ชนะสงครามที่มีต่อฝ่ายอักษะผู้แพ้สงคราม จุดมุ่งหมายสำคัญของอังกฤษและสหรัฐอเมริกาที่จะป้องกันมิให้สหภาพโซเวียตครอบงำและรวมกลุ่มรัฐต่าง ๆ ในยุโรปตะวันออกที่ถูกยึดครองโดยกองทัพแดงนั้นได้ประสบความล้มเหลว เนื่องจากว่าสหภาพโซเวียตได้ดำเนินการคุมการเลือกตั้งเสียเองจนทำให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ชนะการเลือกตั้งในประเทศต่าง ๆ ในช่วงหลังสงครามระหว่างปี ค.ศ. 1946 ถึง 1948

War Type : Accidental War

ประเภทของสงคราม : สงครามโดยอุบัติเหตุ

การขัดกันด้วยอาวุธโดยที่มิได้ตั้งใจ ซึ่งมีเหตุสืบเนื่องมาจากความผิดพลาดของมนุษย์เอง หรือจากความผิดพลาดทางอิเล็กทรอนิกหรือทางแมคานิกต่าง ๆ สงครามโดยอุบัติเหตุในยุคนิวเคลียร์นี้เกี่ยวเนื่องจากความเป็นไปได้ที่มหาอำนาจจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ตอบโต้กันเนื่องจากเกิดการเข้าใจผิดในการตีความเจตจำนงของฝ่ายตรงข้าม หรือเกิดอุบัติเหตุกับระบบส่งหรือระบบยิงอาวุธมหาประลัยนิวเคลียร์นี้ เหตุการณ์ที่จะนำไปสู่สงครามใหญ่ เช่น เกิดความเผอเรอเป็นเหตุให้อาวุธนิวเคลียร์ระเบิดทำลายศูนย์กลางประชาชนแห่งสำคัญ ๆ เกิดความผิดพลาดขึ้นบนจอเรดาร์แล้วทำให้เชื่อว่าอีกฝ่ายกำลังทำการโจมตี และเกิดจากการกระทำของผู้บังคับบัญชาทหารที่เสียจริตสั่งให้ทำการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ เป็นต้น

ความสำคัญ อันตรายจากการเกิดสงครามโดยอุบัติเหตุระหว่างรัฐมหาอำนาจนิวเคลียร์นี้มีเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีความก้าวหน้าในเทคโนโลยีระบบส่งหรือระบบยิงนิวเคลียร์ และมีการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร๎ไปในหมู่รัฐอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้นมาจากเดิม ดังตัวอย่างที่ได้มีการพัฒนาอาวุธปล่อยข้ามทวีปพร้อมกับติดหัวรบนิวเคลียร์ขึ้นมาได้ ซึ่งจะเพิ่มอันตรายต่อเมืองใหญ่ ๆ จะถูกทำลายโดยอุบัติเหตุสงครามนิวเคลียร์และผลร้ายต่าง ๆ ที่จะตามมานั้นมีมากมายยิ่งนัก และเมื่อมีการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์เข้าไปในหมู่ชาติ ต่าง ๆ ที่เพิ่มเข้ามาใหม่เหล่านี้ ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มอันตรายเป็นเงาตามตัว ทั้งนี้เพราะรัฐใหม่ ๆ ที่เพิ่งจะเข้ามาอยู่ในสังคมนิวเคลียร์นี้ ยังไม่มีประสบการณ์หรือมีระบบความปลอดภัยที่มีประสิทธิผลในการป้องกันความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์เอง และความผิดพลาดในทางแมคานิก เพื่อลดการเสี่ยงกับการเกิดสงครามนิวเคลียร์โดยอุบัติเหตุนี้ เมื่อปี ค.ศ. 1963 สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต จึงได้ติดตั้งระบบสื่อสารแบบ "สายตรง" เชื่อมโยงระหว่างกรุงวอชิงตันกับกรุงมอสโก เพื่อจะได้ใช้ติดต่อพูดคุยกันได้ทันทีในระหว่างที่เกิดวิกฤติการณ์ เมื่อปี ค.ศ. 1966 ได้มีการติดต่อระบบสื่อสาร "สายตรง" นี้ระหว่างกรุงปารีสกับกรุงมอสโก และเมื่อปี ค.ศ. 1967 ระบบสื่อสาร "สายตรง"นี้ก็ได้มีการติดตั้งขึ้นระหว่างกรุงลอนดอนกับกรุงมอสโกอีกเช่นเดียวกัน ครั้นเมื่อถึงปี ค.ศ. 1968 ก็ได้มีการเปิดให้มีการให้สัตยาบันสนธิสัญญาว่าด้วยการไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ อันตรายจากการเกิดสงครามนิวเคลียร์โดยอุบัติเหตุระหว่างมหาอำนาจนิวเคลียร์นี้ มีการย้ำถึงในรายงานของสภาคองเกรสที่ได้เปิดเผยว่า ในแต่ละปีจะมีคนหลายพันคนถูกยกเลิกห้ามมิให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์ เนื่องจากเป็นผู้เสพยาเสพย์ติด เป็นพวกมีปัญหาทางด้านร่างกาย และเป็นพวกมีปัญหาทางด้านจิตใจ