Google

Sunday, October 18, 2009

Limited War, Iran - Iraq

สงครามจำกัด, สงครามอิหร่าน-อิรัก

การสู้รบระหว่างอิหร่านกับอิรักนับแต่ปี ค.ศ. 1980 สงครามครั้งนี้เป็นสงครามมหาวินาศ สร้างความสูญเสียให้แก่ประชาชนถึง 1 ล้านคนโดยประมาณ เป็นบทล่าสุดในประวัติศาสตร์อันยาวนานของการต่อสู้ระหว่างสองรัฐนี้ สาเหตุสำคัญของการสู้รบครั้งนี้ก็ได้แก่ การแย่งชิงดินแดน ต้องการควบคุมเส้นทางเดินเรือ ชัตต์ อัล - อาหรับสู่อ่าวเปอร์เซีย ความแตกต่างทางศาสนาอิสลามระหว่างมุสลิมนิกายชิอะห์กับมุสลิมนิกายซุนหนี่ และการแย่งชิงเพื่อครองความเป็นใหญ่ในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย

ความสำคัญ สงครามอิหร่าน - อิรักคราวนี้ นอกจากจะสร้างความสูญเสียให้แก่มวลมนุษย์แล้ว ก็ยังเป็น สงครามที่สร้างความวิตกกังวลไปทั่วโลก ทั้งนี้เพราะพื้นที่ที่ขัดแย้งกันนี้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์และมี ทรัพยากรน้ำมันอย่างมหาศาล สงครามครั้งนี้มีพื้นฐานมาจากการผิดพลาดในการประเมินขีดความสามารถและองค์ประกอบทางสถานการณ์ตั้งแต่เริ่มแรก ทางฝ่ายอิรักเห็นว่าอิหร่านกำลังวุ่นวายอยู่กับการ ปฏิวัติตนคงจะมีชัยชนะได้อย่างรวดเร็วแน่ ๆ จึงได้เริ่มโจมตีทางอากาศเมื่อวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1980 สงครามคราวนี้ได้สร้างความสูญเสียทางด้านชีวิตมนุษย์และทางด้านเศรษฐกิจมากมาย แต่สถานการณ์การสู้รบกลับถึงมุมอับ โดยที่ฝ่ายอิรักได้เปรียบทางอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมทั้งมีการใช้อาวุธเคมีในการทำสงครามด้วย ส่วนฝ่ายอิหร่านนั้นได้เปรียบทางด้านกำลังพล แม้ว่าสหประชาชาติและรัฐมุสลิมต่าง ๆ จะพยายามให้มีการหยุดยิง แต่ก็ประสบกับความล้มเหลว ในขณะเดียวกัน อันตรายจากการขยายตัวของสงครามกลับมากยิ่งขึ้นไปอีก จากการที่ทั้งสองฝ่ายได้ทำการโจมตีการขนส่งทางเรือในอ่าวเปอร์เซียของ
รัฐที่สาม สหรัฐอเมริกามีนโยบายเป็นกลางในสงครามคราวนี้ แต่ก็มีความวิตกกังวลกับการคุกคามต่อเสรีภาพการเดินเรือในอ่าวเปอร์เซีย เหตุผลอย่างหนึ่งที่ให้เกิดความวิตกกังวลก็เพราะอิรักได้โจมตีเรือรบสหรัฐฯ ชื่อ สตาร์ก เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1987 ยังผลให้ลูกเรือสหรัฐฯ เสียชีวิตถึง 37 นาย นอกจากจะสนใจในการทำสงครามแล้ว ฝ่ายสหรัฐอเมริกาและฝ่ายสหภาพโซเวียต ได้คอยเฝ้าตรวจกองกำลังของกันและกันที่จะเข้ามาอยู่ในบริเวณน่านน้ำที่แคบแห่งนี้ที่เส้นทางลำเลียงน้ำมันของประเทศตะวันตกจำเป็นต้องผ่าน ถึงแม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะดำเนินนโยบายเป็นกลาง แต่ก็ได้ขายอาวุธอย่างลับ ๆ ให้แก่อิหร่าน ผลกำไรจากการขายอาวุธครั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีเรแกน ได้ให้เจ้าหน้าที่หันเหียนนำไปช่วยเหลือพวกกบฎคอนทราในนิคารากัวอีกต่อหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้ได้กลายเป็นปัญหาทางการเมืองในสหรัฐฯในเวลาต่อมา

No comments:

Post a Comment