Google

Sunday, October 18, 2009

Alliance : Baghdad Pact

ความเป็นพันธมิตร : กติกาสัญญาแบกแดด

ความเป็นพันธมิตรที่จะรักษาสันติภาพและความมั่นคงในตะวันออกกลาง ซึ่งได้ใช้เป็นรากฐานเพื่อการพัฒนาเป็นองค์การสนธิสัญญากลาง (เซ็นโต) กติกาแบกแดดนี้ได้ลงนามกันเมื่อค.ศ. 1955 โดยประเทศอิรักและตุกี และมีประเทศอังกฤษ ปากีสถาน และอิหร่าน ได้ให้ภาคยานุวัติในปีเดียวกันนี้ด้วย สมาชิกทุกชาติของสันนิบาตอาหรับและมหาอำนาจตะวันตกสำคัญ ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการธำรงความมั่นคงในตะวันออกกลางต่างได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นภาคีของกติกาสัญญาฉบับนี้ แต่ก็ไม่มีชาติใดมาร่วมด้วยเลย เมื่อปี ค.ศ. 1959 กติกาสัญญาแบกแดดได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น องค์การสนธิสัญญากลาง (เซ็นโต) ภายหลังจากที่ประเทศอิรักได้ถอนตัวออกมาอย่างเป็นทางการเมื่อเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในปี ค.ศ. 1958 ต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 1979 เกิดการปฏิวัติในอิหร่าน ส่งผลให้อิหร่านถอนตัวออกจากการเป็นภาคี และเกิดการล่มสลายขององค์การเซ็นโตในที่สุด

ความสำคัญ กติกาสัญญาแบกแดดนี้ ได้พัฒนาขึ้นมาภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา และได้ใช้เป็น "แนวป้องกันแนวเหนือ" ในด้านตะวันออกกลาง ในระบบเครือข่ายพันธมิตรทั่วโลก ที่สร้างขึ้นมาโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทสหรัฐฯ นายจอห์น ฟอสเตอร์ ดัลลัส เพื่อใช้ " ปิดกั้น " การขยายตัวของคอมมิวนิสต์ ถึงแม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะมิได้เข้าร่วมเป็นภาคีโดยตรง แต่ก็มีผู้แทนของสหรัฐฯเข้าร่วมในการประชุมคณะกรรมาธิการเซ็นโตนี้และสหรัฐฯก็ได้ลงนามในกติกาสัญญาความมั่นคงแบบทวิภาคี กับอิหร่าน ปากีสถาน และตุรกี นอกจากนี้แล้ว สหรัฐอเมริกาก็ยังให้ความสำคัญแก่กติกาสัญญาแบกแดดนี้ โดยได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านการทหารและการป้องกันประเทศแก่หมู่ภาคีกติกาสัญญานี้ด้วย ฝ่ายสหภาพโซเวียตได้ประณามกติกาสัญญาแบกแดดและองค์การเซ็นโตว่าเป็นเครื่องมือของพวกจักรวรรดินิยมที่มีเป้าหมายในทางรุกราน ข้อตกลงความเป็นพันธมิตรในทางความมั่นคงฉบับนี้ ตั้งแต่แรกเกิดขึ้นมามีลักษณะอ่อนแอเสียแล้ว ทั้งนี้ก็เพราะไม่มีรัฐอาหรับต่าง ๆ มาเข้าร่วมเป็นสมาชิกภาพ แม้แต่ปากีสถาน ซึ่งเป็นภาคีสมาชิกก็ได้หันไปดำเนินนโยบายความเป็นกลางเสียในภายหลัง ส่วนสหภาพโซเวียตได้ลำเลียงอาวุธให้แก่ประเทศอาหรับหลายประเทศ และอังกฤษเองก็ได้หมดอำนาจทางการทหารในตะวันออกกลางโดยสิ้นเชิง

No comments:

Post a Comment