Google

Sunday, October 18, 2009

Peace Policy : Peaceful Coexistence

นโยบายสันติภาพ : การอยู่ร่วมกันโดยสันติ

เป็นการนำลัทธิเลนินมาตีความเสียใหม่ โดยปฏิเสธความในลัทธิเลนินที่บอกว่าสงครามระหว่างรัฐฝ่ายตะวันตกชั้นแนวหน้ากับรัฐฝ่ายคอมมิวนิสต์มิอาจหลีกเลี่ยงได้ หลักการอยู่ร่วมกันโดยสันติของคอมมิวนิสต์นี้ ผู้นำมาประกาศคือ ประธานาธิบดี นิกิตา ครุชชอฟ แห่งสหภาพโซเวียต ต่อที่ประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 20 เมื่อปี ค.ศ. 1956 หลักการใหม่ซึ่งใช้เป็นรากฐานของนโยบายโซเวียตนี้ ได้เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายหลีกเลี่ยงสงครามนิวเคลียร์ และให้งดเว้นจากการส่งออกเพื่อทำการปฏิวัติหรือต่อต้านการปฏิวัตินั้นด้วย ประธานาธิบดี ครุชชอฟ บอกว่า การแข่งขันระหว่างรัฐต่าง ๆ ที่มีระบบสังคมแตกต่างกันนี้ สามารถดำเนินการต่อไปได้ในด้านต่าง ๆ โดยไม่เกี่ยวกับการทหารทั้งปวง จนกว่าลัทธิคอมมิวนิสต์จะได้พิสูจน์ตนเองว่ามีความเหนือกว่าและสามารถทำลายล้างลัทธิทุนนิยมให้สิ้นซากได้แล้วเท่านั้น

ความสำคัญ หลักการอยู่ร่วมกันโดยสันตินี้ เป็นการส่อถึงการยอมรับถึงภัยคุกคามจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทำลายล้างซึ่งกันและกัน และเป็นการนำยุทธวิธีใหม่มาใช้เพื่อเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ดี หลักการนี้มิได้สนับสนุน "สันตินิยม" ทั้งนี้เพราะได้มีการกำหนดให้คนพื้นเมือง "ทำสงครามยุติธรรม" คือสงครามปลดปล่อยเพื่อใช้เป็นหนทางบรรลุถึงเป้าหมายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในดินแดนที่กำลังพัฒนาของโลกได้ สิทธิในการ "ส่งออก" กลุ่มปฏิวัติเพื่อคานอำนาจกับการสนับสนุนของพวกทุนนิยมต่อรัฐบาลปฏิกิริยาที่มวลชนต่อต้านนั้น เป็นส่วนหนึ่งในหลักการใหม่ของสหภาพโซเวียตที่ว่านี้ แนวความคิดหลายอย่างที่ปรากฎอยู่ในหลักการนี้ เป็นหลักการที่ได้จากการตีความลัทธิคอมมิวนิสต์ของเลนินและสตาลินใหม่นั่นเอง แต่ที่มาเน้นในเรื่องให้หลีกเลี่ยงการทำสงครามใหญ่กับฝ่ายตะวันตกนี้ ก็มีรากฐานมาจากการประเมินสถานการณ์ตามความเป็นจริงถึงอันตรายของสงครามนิวเคลียร์ ถึงแม้ว่าพวกผู้นำจีนเมื่อทศวรรษหลังปี ค.ศ.1950 และเมื่อทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1960 จะได้ประณามหลักการอยู่ร่วมกันโดยสันตินี้ โดยได้กล่าวหาว่าเป็นการปฏิเสธหลักการของลัทธิมาร์กซิสต์และลัทธิเลนิน และบอกว่าเป็นเครื่องหมายบ่งบอกถึงความขี้ขลาดตาขาวของพวกผู้นำโซเวียต แต่พอครั้นถึงช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1970 พวกผู้นำจีนเองก็ได้หันมายอมรับหลักการอยู่ร่วมกันโดยสันตินี้เป็นรากฐานสำหรับการคลายความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันรัฐมหาอำนาจนิวเคลียร์ทั้งปวงได้ยอมรับถึงความจำเป็นในการหลีกเลี่ยงความพินาศย่อยยับจากการทำสงครามนิวเคลียร์ แต่ในขณะเดียวกันก็ได้เสริมสร้างขีดความสามารถของตนทั้งในสงครามนิวเคลียร์และในสงครามตามแบบอยู่อย่างต่อเนื่อง

No comments:

Post a Comment