Google

Sunday, October 18, 2009

War Policy :Yalta Agreement

นโยบายทางสงคราม : ข้อตกลงที่เมืองยัลตา

ข้อตกลงของฝ่ายบริหารในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งได้มีการลงนามกันในที่ประชุมสุดยอดของ 3 ผู้ยิ่งใหญ่ (คือ ประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี. รูสเวลท์ แห่งสหรัฐอเมริกา นายกรัฐมนตรี วิสตัน เชอร์ชิลล์ แห่งอังกฤษ และนายกรัฐมนตรี โยเซฟ สตาลิน แห่งสหภาพโซเวียต) ณ เมืองยัลตา ในสาธารณรัฐไครเมียของรัสเซีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1945 เพื่อบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับ การเข้ายึดครองเยอรมนี อนาคตของดินแดนในยุโรปตะวันออก ยุทธศาสตร์ร่วมกันเพื่อพิชิตญี่ปุ่นและเรื่องสำคัญ ๆ เกี่ยวกับองค์การสหประชาชาติที่เสนอให้มีการจัดตั้งขึ้นมา ส่วนการตัดสินใจเกี่ยวกับสงครามที่สำคัญมีดังนี้ (1)ให้เยอรมนียอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไข (2) ให้นำอาชญากรสงครามเยอรมันขึ้นศาลพิจารณาคดีโดยเร็ว (3)ให้มีการเรียกค่าปฏิกรรมสงคราม (4) ให้ประเทศต่าง ๆ ที่ถูกปลดปล่อยแล้วในแถบยุโรปตะวันออกได้จัดการเลือกตั้งตามแบบเสรีประชาธิปไตย (5) ให้มีการเปลี่ยนแปลงพรมแดนของโปแลนด์และรัสเซียเสียใหม่โดยให้ขยับเส้นพรมแดนไปทางทิศตะวันตกทางแม่น้ำออกเดอร์และแม่น้ำนีสเซซึ่งในการนี้ฝ่ายเยอรมนีจะต้องยอมสละดินแดนส่วนนี้ และ (6) ให้สหภาพโซเวียตมาร่วมกับฝ่ายพันธมิตรทำสงครามกับญี่ปุ่นภายในสามเดือนหลังจากสงครามในยุโรปยุติลงแล้ว ส่วนการตัดสินใจเกี่ยวกับองค์การสหประชาชาติที่เสนอให้มีการจัดตั้งขึ้นมานั้นได้ตกลงกันดังนี้ (1) ให้เปิดสมาชิกภาพแรกเริ่มในองค์การสหประชาชาติที่ตั้งขึ้นมาใหม่นี้แก่ทุกรัฐที่ได้ประกาศสงครามกับมหาอำนาจฝ่ายอักษะเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1945 (2) ให้สหภาพโซเวียตได้สมาชิกภาพ 3 ที่นั่งในสหประชาชาติ (คือ สหภาพโซเวียต 1 ที่นั่ง ยูเครน 1 ที่นั่ง และไบโลรัสเซีย1ที่นั่ง) แทนที่จะเป็น 16 ที่นั่งตามที่สตาลินร้องขอ (3)ให้จัดตั้งระบบภาวะทรัสตรีแทนข้อตกลงระบบอาณัติขององค์การสันนิบาตชาติ และ (4) ไม่ให้นำอำนาจยับยั้งในคณะมนตรีความมั่นคงมาใช้กับ "การตัดสินใจเรื่องวิธีการดำเนินการ" และมิให้คู่กรณีพิพาทนำเอาอำนาจยับยั้งนี้มาใช้ขัดขวางการพิจารณาของคณะมนตรีความมั่นคง

ความสำคัญ ข้อตกลงที่ยัลตานี้ ได้ช่วยจัดโครงสร้างทางอำนาจและเขตอิทธิพลต่าง ๆในยุโรปตะวันออกและในเอเชียเสียใหม่ และด้วยเหตุที่มิได้มีการลงนามเช่นเดียวกับสนธิสัญญาสันติภาพทั่ว ๆ ไปเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ดังนั้น ข้อตกลงที่เมืองยัลตานี้จึงได้กลายเป็นเครื่องมือระดับพื้นฐานใช้เพื่อประสานนโยบายของฝ่ายพันธมิตรผู้ชนะสงครามที่มีต่อฝ่ายอักษะผู้แพ้สงคราม จุดมุ่งหมายสำคัญของอังกฤษและสหรัฐอเมริกาที่จะป้องกันมิให้สหภาพโซเวียตครอบงำและรวมกลุ่มรัฐต่าง ๆ ในยุโรปตะวันออกที่ถูกยึดครองโดยกองทัพแดงนั้นได้ประสบความล้มเหลว เนื่องจากว่าสหภาพโซเวียตได้ดำเนินการคุมการเลือกตั้งเสียเองจนทำให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ชนะการเลือกตั้งในประเทศต่าง ๆ ในช่วงหลังสงครามระหว่างปี ค.ศ. 1946 ถึง 1948

No comments:

Post a Comment