Google

Sunday, October 18, 2009

Nuclear Strategy : First Strike

ยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ : การโจมตีครั้งแรก

ยุทธศาสตร์ในการใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีอย่างไม่รู้ตัว เพื่อทำลายหรือทำให้ศัตรูหมดสมรรถภาพอย่างสิ้นเชิงในการโจมตีโต้กลับ ทฤษฎีการโจมตีครั้งแรกนี้ มีสมมติฐานว่าฝ่ายหนึ่งสามารถยิงหรือส่งอาวุธนิวเคลียร์ที่มีขนาดเพียงพอที่จะโจมตีอีกฝ่ายหนึ่งอย่างถล่มทลายราบคาบจนถึงขั้นที่สามารถชนะสงครามนิวเคลียร์ได้ ก่อนที่ฝ่ายศัตรูจะสามารถฟื้นตัวจากการโจมตีนี้ รัฐที่ทำการโจมตีครั้งแรกนี้จะมีขีดความสามารถมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ที่มีอยู่ในคลังแสงของตนและระบบที่จะใช้ปล่อยหรือยิงอาวุธนิวเคลียร์นั้นด้วย แต่การโจมตีครั้งแรกนี้ถูกจำกัดโดยศักยภาพในการโจมตีครั้งที่สอง หรือขีดความสามารถในการโจมตีโต้กลับของฝ่ายศัตรูนั้นด้วย

ความสำคัญ ความมั่นคงแห่งชาติที่จะพ้นจากการโจมตีในยุคนิวเคลียร์นี้จะมีมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของอำนาจการโจมตีโต้กลับเพื่อป้องปรามการโจมตีครั้งแรกนั้น โดยเชื่อว่าสามารถทำการโจมตีตอบโต้กลับไปด้วยอาวุนิวเคลียร์ขนาดหนักได้อย่างแน่นอน หากขีดความสามารถที่จะโจมตีกลับขนาดหนักไม่สามารถเชื่อถือได้ มหาอำนาจนิวเคลียร์นั้น ๆ ก็จะอยู่ในฐานะล่อแหลมและมีจุดอ่อนอย่างยิ่งเพื่อจะมิให้ถูกทำลายจากขีดความสามารถในการโจมตีครั้งที่สองนี้ ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตก็ได้ใช้วิธีการต่าง ๆ คือ มีการเก็บอาวุธปล่อยข้ามทวีปที่จะใช้ยิงหัวรบนิวเคลียร์ไว้ในที่เก็บที่มิดชิดแข็งแรงยากแก่การตรวจจับของฝ่ายศัตรู กระจายระบบส่งหรือยิงอาวุธนิวเคลียร์โดยนำอุปกรณ์ยิงอาวุธปล่อยที่ติดหัวรบแบบหลายหัวไปติดตั้งไว้ในเรือดำน้ำที่อยู่ตามที่ต่าง ๆ และเอาอาวุธนิวเคลียร์ติดตั้งไว้ในเครื่องบินทิ้งระเบิดแล้วให้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนบินอยู่ในอากาศตลอดเวลา นอกจากจะหาทางคุ้มครองอาวุธนิวเคลียร์เหล่านี้แล้ว ทั้งสองชาติอภิมหาอำนาจนี้ก็ยังได้พยายามที่จะพัฒนาระบบต่อต้านขีปนาวุธ (เอบีเอ็ม) เพื่อใช้ป้องกันการโจมตีครั้งแรก โดยหามาตรการมาป้องกันอาวุธปล่อยที่ยิงเข้ามา หรือที่มาโดยระบบอื่น อย่างไรก็ดี หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าตนมีระบบป้องกันที่มีประสิทธิภาพแล้ว ก็อาจจะไปกระตุ้นให้ยอมเสี่ยงทำการโจมตีครั้งแรกนั้นก็ได้ หรือว่าในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าอีกฝ่ายกำลังวางแผนในการโจมตีในไม่ช้า ก็อาจจะถือโอกาสโจมตีครั้งแรกตัดหน้าฝ่ายศัตรูเสียเลยก็ได้

No comments:

Post a Comment