Google

Sunday, October 18, 2009

War Measures : Terrorism

มาตรการทางสงคราม : ระบบก่อการร้าย

กิจกรรมต่าง ๆ ของตัวแสดงที่เป็นรัฐ หรือของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ ซึ่งใช้เทคนิควิธีความรุนแรง ในความพยายามเพื่อบรรลุถึงจุดหมายทางการเมือง วิธีต่าง ๆ ที่ผู้ก่อการร้ายนำมาใช้ ได้แก่ การจี้เครื่องบิน การยึดตัวประกัน การก่อวินาศกรรม การวางระเบิด การปล้นธนาคาร การลักพาตัวทางการเมือง และการลอบสังหาร องค์การก่อการร้ายต่าง ๆ มีลักษณะพิเศษ คือ จะพยายามเผยแพร่กิจกรรมของตนให้เป็นที่สนใจของสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ และของประชาชนทั่วไป องค์การก่อการร้ายส่วนใหญ่จะยึดแนวทางทางการเมืองแบบรุนแรง เช่น กลุ่มฝ่ายซ้ายที่พยายามยุแหย่ให้เกิดการปฏิวัติหรือสงครามกลางเมือง และกลุ่มฝ่ายขวาที่พยายามปกป้องระบบเดิม ๆ เอาไว้ แต่ก็มีหลายองค์การอีกเหมือนกัน ที่เป็นประเภทอุดมคตินิยม คือถือว่าพวกตนเป็นพวกรักชาติสุดชีวิตจิตใจ หรือเป็นผู้ปกป้องสิทธิของประชาชน ในช่วงเวลา 40 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงแล้ว มีองค์การปลดปล่อยหลายองค์การในดินแดนอาณานิคมที่ยังไม่ได้เอกราช ได้ใช้ยุทธวิธีก่อการร้ายนี้ในความพยายามที่จะหนุนขบวนการเรียกร้องเอกราชของฝ่ายตน ส่วนกลุ่มก่อการร้ายทางชาติพันธุ์อีกหลายกลุ่ม ก็ได้ใช้เทคนิควิธีความรุนแรงในระบบหรือนอกแบบต่าง ๆ ในความพยายามที่จะแบ่งแยกดินแดนภายในรัฐ และก็มีบางองค์การใช้ปฏิบัติการรุนแรงนี้ มุ่งไปที่นักการทูตต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ทางทหาร และผู้บริหารบรรษัทต่าง ๆ โดยมีความเชื่อว่าพวกตนกำลังต่อสู้เพื่อปลดปล่อยประเทศตนจากการครอบงำของต่างชาติ หรือของลัทธิล่าอาณานิคมแบบใหม่

ความสำคัญ พวกผู้ก่อการร้ายในทุกวันนี้ มักจะเป็นผู้นำเลือดรักชาติ และวีรบุรุษแห่งชาติในอนาคต ซึ่งจากข้อเท็จจริงนี้เอง จึงทำให้ยากที่ประชาคมในประเทศ และประชาคมระหว่างประเทศจะทำการปราบปรามพวกก่อการร้ายนี้ได้ การใช้ยุทธวิธีการก่อการร้ายโดยกลุ่มต่าง ๆ เพื่อบรรลุถึงจุดมุ่งหมายทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องเคยมีตัวอย่างมากมายในประวัติศาสตร์ แต่ที่มีการนำวิธีการนี้มาใช้กันในปัจจุบันนี้มาก ก็เนื่องจากว่าได้มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านการขนส่งให้ทันสมัยกว่าแต่ก่อนมาก และก็สามารถหาอาวุธยุทโธปกรณ์และอุปกรณ์ระเบิดต่าง ๆ ได้โดยง่าย กระนั้นก็ดี กิจกรรมก่อการร้ายนี้ก็ยังไม่ถึงกับเกิดขึ้นบ่อยและมีระดับความรุนแรงมากมาย ได้แต่มีการกระพือข่าวขึ้นมา และก็มีอยู่บ่อยๆ ที่เมื่อมีเหตุการณ์วางระเบิดหรือมีการสังหารทางการเมืองเกิดขึ้นแล้ว ก็จะมีองค์การต่าง ๆ สองหรือสามองค์การมาอ้างว่าฝ่ายตนเป็นผู้กระทำ และมีกลุ่มต่าง ๆ ที่มิใช่ตัวแสดงที่เป็นรัฐได้นำยุทธวิธีการก่อการร้ายนี้มาใช้ ซึ่งที่โด่งดังที่สุด ก็คือ องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (พีแอลโอ) ในตะวันออกกลาง กองทัพสาธารณรัฐไอริช (ไออาร์เอ) ในอุลสเตอร์ แล้วก็ยังมีหน่วยกล้าตายทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายปฏิบัติการอยู่ใประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มละตินอเมริกาหลายประเทศ นอกจากนี้แล้ว ก็ยังมีรัฐบาลของอีกหลายชาติได้ใช้การก่อการร้ายรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุถึงจุดหมายทางการเมืองของตน อย่างเช่น การโจมตีทางอากาศ การสังหารหมู่ประชาชน การจองจำคุมขัง เป็นต้น และได้มีความพยายามโดยประชาคมระหว่างประเทศที่จะประณามปฏิบัติการก่อการร้ายเหล่านี้โดยผ่านทางสหประชาชาติ แต่ก็ยังมีผู้นำชาวโลกส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการใช้สงครามกองโจรและระบบการก่อการร้ายนี้เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายทางการเมืองที่พวกตนเองมีความเห็นคล้อยตาม สำหรับผู้ที่จะต้องเกี่ยวข้องกับระบบการก่อการร้ายนี้ก็จะมีปัญหาสำคัญให้ตัดสินใจว่าควรจะใช้นโยบายความรุนแรงตอบโต้ (แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน) ต่อผู้ก่อการร้ายเหล่านี้ดี หรือว่าจะใช้นโยบายอะลุ้มอล่วยเพื่อสร้างความปรองดองทางการเมืองในชาติดี

No comments:

Post a Comment