Google

Sunday, October 18, 2009

War Type : Psychological Warfare

ประเภทของสงคราม : สงครามจิตวิทยา

กิจกรรมทางการเมือง การทหาร การเศรษฐกิจ และการสังคม ที่ดำเนินการในระหว่างสงครามหรือในระยะที่เกิดสงครามเย็น จนมีอิทธิพลต่อความนึกคิดและการกระทำของบุคคล จุดมุ่งหมายหลักของสงครามจิตวิทยานี้ ก็คือ เพื่อลดกำลังใจที่จะทำการต่อสู้ของศัตรูหรือของผู้ที่มีศักยภาพที่จะเป็นศัตรูลงมาและเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของคนในชาติตนหรือคนในชาติพันธมิตรหรือเพื่อให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายทางการทูต สงครามจิตวิทยานี้ส่วนใหญ่แล้วจะมีการดำเนินการโดยผ่านทางการโฆษณาชวนเชื่อ หรือผ่านทางการรณรงค์ทางอุดมการณ์ โดยตั้งอยู่บนรากฐานของยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่ได้วางแผนไว้อย่างดี เพื่อให้บรรลุจุดหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนอาวุธต่างๆ ที่นำมาใช้ในการสงครามจิตวิทยา ก็ได้แก่ วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ การชุมนุม การเดินขบวน สโลแกน โปสเตอร์ หนังสือ หนังสือพิมพ์ วารสาร การแถลงข่าว และวิธีการอื่นใด ที่จะเข้าไปถึงหรือมีผลต่อความนึกคิดและอารมณ์ของคนในระดับสำคัญและสาธารณชนส่วนใหญ่ สงครามจิตวิทยานี้อาจจะดำเนินการโดยมีขอบเขตจำกัดและเป็นส่วนสำคัญเพื่อให้เกิดการหลงทางและการสับสนแก่การกำหนดนโยบายหรือผู้บังคับบัญชาทหาร

ความสำคัญ สงครามจิตวิทยา ในฐานะเป็นเทคนิควิธีสำหรับใช้แทน หรือใช้สำหรับเพิ่มเติมการใช้กำลังทางทหารเพื่อบรรลุถึงจุดมุ่งหมายทางการทหารและทางการทูตนี้ เป็นวิธีการที่มีการใช้มานานเท่าที่มีการเริ่มบันทึกประวัติศาสตร์ แต่ที่มีการนำมาใช้อย่างกว้างขวางให้เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายของรัฐในโลกปัจจุบันนี้ ก็เนื่องจากมีความง่ายที่เกิดจากการปฏิวัติทางเทคโนโลยีในการสื่อสารมวลชนมาช่วยทำให้สามารถเข้าถึงจิตใจและมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของคนนับล้าน ๆ คนในต่างแดนทั่วโลกได้ สงครามจิตวิทยาที่มุ่งเป้าหมายไปที่มวลชนนั้น จะใช้วิธีไปกระตุ้นความรู้สึกต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น เป็นต้นว่า ความกลัว ความเกลียดชัง ความน่าสะพรึงกลัว หรือว่าความเป็นมิตร ให้ความรู้สึกเหล่านี้ไปสร้างภาพลักษณ์แบบจำลองต่าง ๆ ให้เหมือนของจริงขึ้นในจิตใจของผู้รับสื่อ การใช้สงครามจิตวิทยาสมัยใหม่ที่ทำกันอย่างเป็นระบบครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และเป็นการกระทำในรูปแบบที่ใช้การรณรงค์โฆษณาชวนเชื่อโดยฝ่ายพันธมิตรอย่างเต็มที่ ซึ่งก็ส่งผลให้ขวัญและกำลังใจทั้งของพลเรือนและของทหารของฝ่าย”มหาอำนาจกลาง”อ่อนแอลง และในขณะเดียวกันก็ยังสามารถชักนำให้ประเทศเป็นกลางหันมาให้การสนับสนุนแนวทางของฝ่าย”พันธมิตร”ได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น คำประกาศเรื่อง “โฟร์ทีนพ้อยท์” ของประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ส่งผลให้ฝ่ายพันธมิตรได้ชัยชนะในสงครามจิตวิทยาครั้งสำคัญ ถือเป็นการสร้างขวัญที่ตกต่ำของฝ่ายพันธมิตรให้ดีขึ้นมา และในขณะเดียวกันก็ไปช่วยสร้างความหวังให้แก่ฝ่ายมหาอำนาจกลางว่าจะเกิดสันติภาพขึ้นมาได้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และในสงครามเกาหลี ทั้งสองฝ่ายได้ใช้สงครามจิตวิทยานี้อย่างกว้างขวาง และได้ผลที่มีความแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ข้อเรียกร้องของฝ่ายพันธมิตรที่ให้เยอรมนีและญี่ปุ่นยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไขนั้นกลับส่งผลร้าย คือแทนที่จะให้ทั้งสองประเทศนี้ยอมแพ้ กลับเป็นการไปกระตุ้นให้เกิดความเด็ดเดี่ยวที่จะรบต่อไปให้ถึงที่สุดและเป็นเหตุให้สงครามยืดเยื้ออยู่ต่อไป ส่วนในสงครามเวียดนามนั้น ก็เป็นการแสดงให้เห็นบทบาทสำคัญของสงครามจิตวิทยาในการใช้ปฏิบัติการกองโจร ที่ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถทำลายกันในทางทหารได้ แต่ละฝ่ายจึงได้หันไปใช้วิธีการ “เอาชนะจิตใจ” ของประชาชนแทน นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1945 เป็นต้นมา สงครามจิตวิทยานี้ได้กระทำกันในรูปแบบของการแข่งขันในทางอุดมการณ์มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้โดยมีสมมติฐานว่า หากว่าเราสามารถเอาชนะความจงรักภักดีของบุคคลที่มีต่อระบบความเชื่อได้เสียแล้ว ชัยชนะนั้นก็จะเป็นชัยชนะยั่งยืนและมีความหมายยิ่งเสียกว่าชัยชนะที่เกิดจากการได้ดินแดน สงครามจิตวิทยาได้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อกระบวนการนโยบายต่างประเทศและกิจกรรมทางการทูตต่าง ๆ ที่ดำเนินการโดยมหาอำนาจ อาทิ ในการเจรจาลดอาวุธและในการให้การช่วยเหลือแก่ต่างประเทศ เป็นต้น

No comments:

Post a Comment