Google

Sunday, October 18, 2009

War Type : Coup d'Etat

ประเภทของสงคราม : รัฐประหาร

การเข้ายึดอำนาจของรัฐบาลอย่างเด็ดขาดฉับพลัน โดยกลุ่มทางการเมือง หรือกลุ่มทางทหาร ในระบบเดียวกันนั่นเอง รัฐประหารนี้มีข้อแตกต่างจากการปฏิวัติ ตรงที่รัฐประหารมิได้ตั้งอยู่บนรากฐานของการลุกฮือของประชาชน และมิได้มีการเปลี่ยนแปลงในสถาบันทางการเมืองและสถาบันทางสังคมเดิมของสังคม แต่ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนอย่างการปฏิวัติในภายหลังจากที่เกิดรัฐประหารนั้นก็ได้ ผู้ก่อรัฐประหาร โดยปกติแล้วจะดำเนินการดังนี้ คือ มีการจับตัวหรือสังหารผู้นำทางการเมืองและผู้นำทางการทหารระดับสูง มีการยึดอาคารสถานที่ของฝ่ายรัฐบาลที่สำคัญ ๆ และยึดสาธารณูปโภคต่าง ๆ และมีการใช้สื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนอยู่ในความสงบและชี้ชวนให้หันมาสนับสนุนรัฐบาลใหม่

ความสำคัญ ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การรัฐประหารนี้มักจะถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยกลุ่มต่าง ๆ หรือบุคคลชั้นผู้น้อยภายในโครงสร้างอำนาจของสังคม เพื่อเลื่อนตำแหน่งฐานะของตนขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของความเป็นผู้นำ เมื่อมีการทำรัฐประหารสำเร็จในแต่ละครั้ง ก็มักจะมีการต่อต้านการรัฐประหารที่ดำเนินการโดยบุคคลต่าง ๆ ที่ยังให้การสนับสนุนบรรดาผู้นำที่ถูกขับออกจากอำนาจนั้น หรือโดยบุคคลที่เป็นศัตรูส่วนตัวกับผู้นำใหม่ที่กระทำรัฐประหารนั้น ได้มีการรัฐประหารหลายครั้งหลายหนเกิดขึ้นในหมู่ประเทศกำลังพัฒนาในระหว่างทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1970 และในระหว่างทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1980 ซึ่งก็มีหลายครั้งที่เป็นการกระทำโดยกลุ่มทหารที่เข้ายึดอำนาจจากกลุ่มผู้นำทางการเมือง ที่ได้รับการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ความไม่พอใจกับการที่รัฐบาลประสบกับความล้มเหลวไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจบรรลุตามเป้าหมาย เป็นเหตุของการรัฐประหารอย่างที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศโลกที่สามได้ ดังตัวอย่าง การรัฐประหารของทหารที่โบลิเวียเมื่อปี ค.ศ. 1980 เป็นการยึดอำนาจของฝ่ายทหารภายหลังการเลือกตั้งที่ผลปรากฏว่ากลุ่มฝ่ายซ้ายชนะการเลือกตั้งได้ครองอำนาจทางการเมือง สำหรับการรัฐประหารของทหารในประเทศกรีซเมื่อปี ค.ศ. 1967 นั้นเป็นการแสดงให้เห็นว่า แม้ในหมู่ประเทศตะวันตกที่มีประเพณีในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยมานานก็ยังไม่วายมีการรัฐประหาร แต่ในที่สุดแล้ว รัฐบาลใหม่ที่ได้อำนาจมาโดยการรัฐประหาร จะต้องมีความชอบธรรมพอสมควรในสายตาของมวลชน จึงจะสามารถอยู่รอดและสามารถปกครองอย่างมีประสิทธิผลได้ ดังมีตัวอย่างเกิดขึ้นในประเทศฟิลิปปินส์ ปัญหาเรื่องการได้ความชอบธรรมและการมีเสถียรภาพนี้ ได้เป็นตัวการบั่นทอนรัฐบาลของนางโคราซอน อาควิโนซึ่งต้องเผชิญกับการทำรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่าแต่ไม่สำเร็จถึงห้าครั้ง ในช่วงเวลาสั้น ๆ หลังก้าวขึ้นสู่อำนาจเมื่อปี ค.ศ. 1986

No comments:

Post a Comment