Google

Sunday, October 18, 2009

Limited War

สงครามจำกัด

การขัดแย้งกันด้วยอาวุธ โดยทำการสู้รบกันเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายโดยไม่คำนึงถึงการทำลายศัตรูแบบเบ็ดเสร็จ และให้ศัตรูยอมแพ้โดยปราศจากเงื่อนไข สงครามจำกัดนี้ อาจจะมีการจำกัดในระดับของอานุภาพการทำลายที่ใช้ จำนวนของผู้มีส่วนร่วม ดินแดนที่เกี่ยวข้อง และการใช้ข้อพิจารณาทางการเมืองแทนยุทธศาสตร์ทางทหาร โดยใช้แต่เพียงอย่างเดียวหรือทั้งสองอย่างควบคู่กันไป สถานการณ์ของสงครามจำกัดนี้ อาจมีลักษณะดังต่อไปนี้ (1) เป็นการขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจนิวเคลียร์ ที่แต่ละฝ่ายมิได้ใช้อาวุธทำลายขนาดใหญ่และไม่ทำการโจมตีศูนย์กลางประชาชนของอีกฝ่ายหนึ่ง (2) เป็นการขัดแย้งระหว่างรัฐเล็ก ๆ ที่ไม่มีการแทรกแซงจากมหาอำนาจ (3) เป็นการขัดแย้งระหว่างรัฐเล็ก ๆ ที่ได้รับการช่วยเหลือโดยตรงหรือโดยอ้อมจากมหาอำนาจนิวเคลียร์ ทำการสู้รบกันภายในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่จำกัด และโดยที่มิได้มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์หรืออาวุธปรมาณู (4) เป็นปฏิบัติการทางทหารที่มหาอำนาจนิวเคลียร์ใช้กับรัฐเล็ก ๆ โดยมิได้มีการแทรกแซงจากมหาอำนาจอื่น ๆ (5) เป็นการก่อจลาจลขึ้นภายในประเทศเพื่อต่อต้านมหาอำนาจเจ้าอาณานิคมหรือรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้น โดยที่ทั้งสองฝ่ายใช้อาวุธตามแบบ และได้รับการสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุงหรือด้านกำลังพล หรือทั้งสองประการจากมหาอำนาจนิวเคลียร์ที่เป็นปรปักษ์กัน (6) เป็นการปฏิบัติการร่วมกันของกองกำลังตำรวจ ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อป้องกันการครอบครองดินแดนของรัฐอื่น หรือเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง และ (7) ความเป็นไปได้ทางทฤษฎีของสงครามนิวเคลียร์ที่จำกัดซึ่งมหาอำนาจใช้เพียงอาวุธปรมาณูทางยุทธวิธีต่อเป้าหมายทางทหารที่กำหนดแน่ชัด

ความสำคัญ เมื่อมหาอำนาจมีการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธมหาประลัยชนิดอื่น ๆ ขึ้นมาแล้ว ก็เป็นการบีบบังคับให้การทำสงครามต้องจำกัด ทั้งในแง่ของขอบเขตและในแง่ความเข้มข้น และให้หาทางแก้ไข ปัญหากันด้วยวิธีทางการเมือง ทั้งนี้ก็เพื่อความอยู่รอดของแต่ละฝ่ายนั่นเอง แนวความคิดในเรื่องสงคราม จำกัดในยุคนิวเคลียร์นี้ได้เกิดขึ้นในช่วงที่เกิความขัดแย้งในเกาหลีระหว่างปี ค.ศ. 1950 - 1953 ซึ่งตอนนั้นทั้งกองกำลังของสหรัฐอเมริกา และกองกำลังของจีนคอมมิวนิสต์ มิได้ทำการโจมตีฐานทัพสำคัญของอีกฝ่าย คือของสหรัฐอเมริกาในญี่ปุ่น และของจีนในแมนจูเรีย ในสงครามเวียดนามระหว่างทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1960 สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต และจีนคอมมิวนิสต์ ต่างก็ได้เข้าแทรกแซงเพื่อจะให้ผลของสงครามเกิดประโยชน์แก่ฝ่ายตน กระนั้นก็ตาม แต่ละฝ่ายก็ได้ใช้ความระมัดระวังเพื่อมิให้เกิดการขยายตัวเป็นสงครามขนาดใหญ่ ในสงครามจำกัดนี้ ทั้งสองฝ่ายจะไม่มีโอกาสมีชัยชนะอย่างชัดเจนเหมือนสงครามครั้งก่อน ๆ ทั้งนี้เพราะเมื่อฝ่ายหนึ่งพยายามจะใช้อานุภาพที่ยิ่งใหญ่กว่าเมื่อใดก็จะถูกคานดุลไว้ด้วยการต่อต้านของอีกฝ่ายหนึ่งเมื่อนั้น ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมแพ้จนทำให้ฝ่ายข้าศึกเพิ่มการทำลายออกไปอีก จะขยายตัวออกไปจนถึงจุดที่ทั้งสองฝ่ายพิจารณาเห็นว่า หากมีการใช้อานุภาพที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ก็จะเป็นเหตุให้มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์เข้าประหัตประหารย่อยยับไปทั้งสองฝ่าย ได้มีการศึกษาทางด้านทฤษฎีมากมายเกี่ยวกับลักษณะธรรมชาติและประโยชน์ของสงครามจำกัด

No comments:

Post a Comment