Google

Sunday, October 18, 2009

Alliance: Rio Treaty (Inter-American Treaty of Reciprocal Assistance)

ความเป็นพันธมิตร : สนธิสัญญาริโอ (สนธิสัญญาให้ความช่วยเหลือกันระหว่างรัฐในทวีปอเมริกา)

กติกาสัญญาป้องกันในระดับภูมิภาค ลงนามกันที่เมือง ริโอ เดอ จาไนโร เมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1947 กำหนดให้มีระบบความมั่นคงร่วมกัน เพื่อต้านทานปฏิบัติการรุกรานที่จะมีมาในซีกโลกตะวันตก ประเทศภาคีของสนธิสัญญาประกอบด้วยสาธารณรัฐต่าง ๆ ในทวีปอเมริกาจำนวน 21 สาธารณรัฐด้วยกัน แต่ต่อมามีสาธารณรัฐหนึ่ง คือ รัฐบาลคัสโตรของคิวบา ได้ถูกกีดกันออกไปมิให้เข้าร่วมอยู่ในระบบป้องกันระหว่างรัฐในทวีปอเมริกานี้ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962 เป็นต้นมา ในการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของสนธิสัญญานี้นั้น ก็ให้ดำเนินการโดยผ่านทางการประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศขององค์การรัฐต่าง ๆ ในทวีปอเมริกา (โอเอเอส) หรือที่ในบทเฉพาะกาลกำหนดให้ดำเนินการโดยคณะมนตรีขององค์การโอเอเอส สนธิสัญญานี้ใช้บังคับทั่วพื้นที่ในซีกโลกตะวันตก คือครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ขั้วโลกเหนือจนจรดขั้วโลกใต้ และมีขอบเขตในการดำเนินการ คือ ต่อต้านการรุกรานโดยอ้อมกล่าวคือ "ที่มิใช่เป็นการโจมตีด้วยอาวุธ" รวมทั้งการโจมตีโดยตรง ที่กระทำต่อรัฐใดรัฐหนึ่งในทวีปอเมริกา ในกรณีที่เป็นการโจมตีโดยตรงนั้น ภาคีสมาชิกแต่ละประเทศตกลงที่จะปฏิบัติการต่อต้านผู้รุกราน และให้ภาคคีสมาชิกแต่ละประเทศตัดสินใจเองว่าจะใช้วิธีการตอบโต้อย่างไร จนกว่าจะได้มีการตกลงร่วมกันในมาตรการต่าง ๆ ที่จะใช้ร่วมกัน ส่วนในกรณีที่เป็นการรุกรานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการโจมตีโดยตรง ตัวอย่างเช่น รัฐหนึ่งให้การสนับสนุนการปฏิวัติในอีกรัฐหนึ่ง กรณีเช่นนี้ก็ให้ภาคีสมาชิกปรึกษาหารือกันเท่านั้น แต่เมื่อจะมีการใช้มาตรการบังคับต่าง ๆ นับแต่มาตรการทางการทูตและทางการเศรษฐกิจจนถึงมาตรการทางการทหาร ก็จะต้องมีเสียงสนับสนุนสองในสามของมวลภาคีสมาชิกของสนธิสัญญาพันธมิตรฉบับนี้

ความสำคัญ สนธิสัญญาริโอ ถือว่าเป็นจุดสุดยอดของความพยายามกว่าครึ่งศตวรรษที่จะให้มีข้อตกลง ในการร่วมมือกันป้องกันของซีกโลกตะวันตกนี้ และก็เป็นการสร้างระบบพหุภาคีในการคัดค้านการแทรกแซงของต่างชาติที่สหรัฐฯ ได้ริเริ่มประกาศไว้ในลัทธิมอนโรเมื่อปี ค.ศ. 1823 สนธิสัญญาริโอนี้เป็นกติกาสัญญาความมั่นคงทั่ว ๆ ไปฉบับแรกที่สหรัฐฯเข้าร่วมลงนามด้วย และข้อผูกมัดหรือพันธกรณีขั้นพื้นฐานของสนธิสัญญานี้ที่ระบุไว้ว่า "การโจมตีทางทหารโดยรัฐหนึ่งรัฐใดต่อรัฐหนึ่งรัฐใดในทวีปอเมริกานี้ ให้ถือว่าเป็นการโจมตีต่อทุกรัฐ" นี่ก็ได้กลายเป็นแม่แบบสำหรับสนธิสัญญานาโตและสนธิสัญญาซีโต การคุกคามภายในต่อความมั่นคงของรัฐต่าง ๆ ในแถบละตินอเมริกา มีแนวโน้มว่าจะเป็นปัญหารีบด่วนในทศวรรษหลังปี ค.ศ.1980 ยิ่งเสียกว่าความน่าจะเป็นไปได้ว่าจะถูกโจมตีจากมหาอำนาจภายนอกทวีปแห่งนี้ สนธิสัญญานี้ได้นำกลับมาใช้เพื่อต่อต้านการคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์สากล เช่น ในกรณีของรัฐบาลคัสโตรแห่งคิวบาเมื่อปี ค.ศ. 1962 และกรณีเกิดปฏิวัติในโดมินิกันเมื่อปี ค.ศ. 1965 การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการร่วมมือกันตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลคิวบา ได้นำมาใช้ดำเนินการกับประเทศคิวบา ตลอดจนกองกำลังสันติภาพระหว่างรัฐในทวีปอเมริกาที่ได้สร้างขึ้นมาเป็นพิเศษนั้น ก็ได้ใช้เป็นช่องทางเพื่อร่วมกันเข้าแทรกแซงในสาธารณรัฐโดมินิกัน ปัญหาสำคัญในการใช้สนธิสัญญาริโอนี้กับการปฏิวัติ สงครามกลางเมือง และการบ่อนทำลาย ในประเทศภาคีต่าง ๆ ก็คือ กลัวว่าอาจจะเกิดปัญหาเก่าเกี่ยวกับลัทธิ "การแทรกแซงของพวกแยงกี้" มาอีก และอาจจะไปปิดกั้นการปฏิวัติทางสังคมที่เป็นสิ่งสำคัญต่อการนำไปสู่ความทันสมัยด้วยก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศภาคีสมาชิกส่วนใหญ่ต่างก็ไม่ให้การสนับสนุนต่อปฏิบัติการของสหรัฐอเมริกาในเกรนาดา (ปี ค.ศ. 1983) และในนิคารากัว ดังนั้นจึงไม่มีการเรียกร้องให้มีการใช้สนธิสัญญาฉบับนี้ และแม้แต่องค์การโอเอเอสเองก็มิได้ปฏิบัติการร่วมแต่อย่างใด นอกจากนี้แล้ว ในสงครามฟอล์กแลนด์ (มัลวินัส) เมื่อปี ค.ศ.1982 ระหว่างอังกฤษกับอาร์เจนตินา ก็มิได้มีการปฏิบัติการใด ๆ จากฝ่ายองค์การโอเอเอสอีกเช่นเดียวกัน

No comments:

Post a Comment