Google

Sunday, October 18, 2009

War Measures : Stockpiling

มาตรการทางสงคราม : การสต๊อกสิ่งของ

การสะสมสิ่งของสำรองต่าง ๆ ทั้งที่เป็นวัตถุดิบ และสิ่งของสำเร็จรูปต่าง ๆ เพื่อนำออกใช้ในยามที่เกิดสงคราม ซึ่งในตอนนั้นแหล่งป้อนวัตถุดิบและสิ่งของสำเร็จรูปเหล่านี้อาจจะถูกตัดขาดไม่สามารถส่งป้อนให้ได้ การสต๊อกสิ่งของนี้อาจจะช่วยให้ชาติรอดพ้นจากการถูกปิดล้อมทางทะเล จากการถูกควบคุมทะเล หรือจากการถูกตัดขาดจากแหล่งป้อนทรัพยากรและวัตถุดิบต่าง ๆ ได้ ในสงครามตามรูปแบบปกติยังไม่ถึงขั้นเป็นสงครามนิวเคลียร์อย่างในสมัยนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีโภคภัณฑ์วิกฤต ต่าง ๆ มาป้อนโรงงาน มีอาหารต่าง ๆ มาเลี้ยงดูกำลังพล และประชาชนพลเรือนในแนวหลัง ตลอดจนต้องนำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไปสนับสนุนแก่พันธมิตรของตน

ความสำคัญ การสต๊อกยุทโธปกรณ์วิกฤตต่าง ๆ เอาไว้นี้จะทำให้กองทัพมีศักยภาพในการสู้รบในสงครามได้นานโดยไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ ยกตัวอย่างเช่น เยอรมนีในช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1930 ได้สต๊อกวัสดุยุทธศาสตร์ไว้มากในการเตรียมการทำสงคราม ทั้งนี้เพื่อมิให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งในครั้งนั้นฝ่ายพันธมิตรได้ใช้วิธีปิดล้อมทางทะเล จนเยอรมนีต้องยอมแพ้ในที่สุด อย่างไรก็ดี ในปี ค.ศ. 1945 ได้เกิดการขาดแคลนยุทโธปกรณ์วิกฤต โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ น้ำมัน และอาหาร เป็นเหตุให้กองทัพเยอรมันพ่ายแพ้อีกครั้งหนึ่ง ในช่วงสงครามเย็น ฝ่ายสหรัฐอเมริกาได้สต๊อกวัสดุยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ไว้มากกว่า 75 ชนิด ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสต๊อกสิ่งของไว้มากที่สุดในโลก โครงการสต๊อกสิ่งของไว้มาก ๆ ที่ดำเนินการโดยชาติที่เจริญแล้วนี้ ก็ได้มีส่วนช่วยประเทศด้อยพัฒนาด้วยเหมือนกัน คือช่วยให้มีการเพิ่มอุปสงค์ในโภคภัณฑ์ขั้นพื้นฐาน (วัตถุดิบและอาหารต่าง ๆ) จากประเทศด้อยพัฒนา ช่วยให้ราคาสินค้าส่งออกของประเทศด้อยพัฒนาสูงขึ้น และช่วยให้ประชาชนในประเทศด้อยพัฒนามีอาหารบริโภคในยามขาดแคลนเนื่องจากมีอาหารล้นสต๊อกอยู่ในประเทศที่เจริญแล้วเหล่านี้ที่พร้อมจะส่งไปช่วยเหลือได้ตามโครงการต่างๆอย่างเช่น โครงการอาหารอเมริกันเพื่อสันติภาพ เป็นต้น นอกจากนี้แล้วการสต๊อกสิ่งของไว้มาก ๆ นี้ ก็ยังเป็นการเสริมความสามารถของชาติในการทำสงครามทางเศรษฐกิจในยามสงบได้ด้วย คือ โดยวิธีระงับการส่งเข้าสินค้าหรือโดยวิธีนำสินค้าทุ่มตลาดเพื่อให้เกิดผลกระทบกับกระแสการค้าและราคาสินค้าในตลาด

No comments:

Post a Comment