Google

Sunday, October 18, 2009

War Policy : Unconditional Surrender

นโยบายทางสงคราม : ยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไข

การยุติการสู้รบโดยไม่มีการกำหนดเงื่อนไข ในการยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไขนี้ทางชาติผู้แพ้จะยอมศิโรราบอยู่ภายใต้อำนาจบงการของชาติผู้ชนะชาติเดียวหรือหลายชาติก็ได้ ซึ่งชาติผู้ชนะนี้ก็อาจจะกำหนดเงื่อนไขหรือข้อเรียกร้องตามกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่งที่เห็นว่าเป็นการสมควรด้วยก็ได้ การยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไขนี้ อย่างน้อยที่สุดก็จะมีการเข้ายึดครองดินแดนของรัฐผู้แพ้นั้น มีการลงโทษอาชญากรสงคราม มีการเรียกค่าปฏิกรรมสงคราม และมีการเปลี่ยนแปลงทางพื้นฐาน ในสถาบันทางการเมือง สถาบันทางเศรษฐกิจ และสถาบันทางสังคมต่าง ๆ ให้เป็นไปตามแนวทางที่รัฐผู้ชนะต้องการ

ความสำคัญ การที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายในระหว่างทำสงครามกันอยู่นั้น ได้ประกาศนโยบายออกมาว่า หากมีการยอมแพ้เกิดขึ้น ก็จะต้องเป็นการยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไข เช่นนี้ก็จะทำให้การสู้รบยืดเยื้อจนกว่าว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะหมดแรงสิ้นฤทธิ์และกองทัพของตนจะถึงแก่การพินาศย่อยยับแล้วเท่านั้น หลักของการยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไขนี้ เป็นลักษณะพิเศษของแนวความคิดของสงครามเบ็ดเสร็จในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างจากสงครามจำกัดที่ต่อสู้กันโดยมีจุดมุ่งหมายจำกัดในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ยกตัวอย่างเช่น ในสงครามโลกครั้งที่ 2 นโยบายของฝ่ายพันธมิตรที่เรียกร้องให้ฝ่ายมหาอำนาจอักษะยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไขนี้ ประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี. รูสเวลท์ ได้เป็นผู้ประกาศในการประชุมที่เมืองคาซาบลันคาเมื่อปี ค.ศ. 1943 แต่ผู้วิจารณ์นโยบายนี้ต่างก็บอกว่า เป็นนโยบายที่ขัดต่อหลักความจริงที่ไม่ยอมให้มหาอำนาจผู้แพ้สงครามคงบทบาทในการดุลอำนาจในช่วงหลังสงคราม เป็นการทำสงครามให้ยืดเยื้อโดยที่ฝ่ายอักษะไม่มีทางเลือกอื่นนอกเสียจากว่าจะต้องสู้จนถึงที่สุด และเป็นเหตุให้เกิดความจำเป็นต้องทิ้งระเบิดปรมาณูที่สองเมืองของญี่ปุ่น คือ เมืองฮิโรชิมา และเมืองนางาซากิ

No comments:

Post a Comment