Google

Sunday, October 18, 2009

Limited War, Afghan-USSR

สงครามจำกัด, สงครามอัฟกานิสถาน-สหภาพโซเวียต

ความขัดแย้งที่เริ่มขึ้นจากการที่สหภาพโซเวียตได้บุกรุกอัฟกานิสถานเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.1979 จุดมุ่งหมายของการรุกรานครั้งนี้ ก็คือ การจัดตั้งรัฐตามแนวลัทธิมาร์กซิสต์ขึ้นตามแนวพรมแดนของโซเวียตในภูมิภาคทางยุทธศาสตร์ของแถบเอเชียกลางนี้ ผลที่ตามมาจากการรุกรานครั้งนี้ ก็คือ ได้เกิดเป็นสงครามกองโจรยืดเยื้อระหว่างกองกำลังต่อต้านอัฟกาน (มุดจาฮิดดิน) กับกองกำลังโซเวียตซึ่งมีกำลังพลประมาณ 100,000 คน การปฏิบัติการในอัฟกานิสถานคราวนี้ ฝ่ายสหภาพโซเวียตมีนโยบายที่จะมีที่ตั้งกำลังทหารในอ่าวเปอร์เซียและในมหาสมุทรอินเดีย นอกจากนี้แล้ว ฝ่ายโซเวียตก็ยังแสดงท่าทีหวั่นเกรงออกมาว่า การที่คนมุสลิมทำการต่อต้านลัทธิมาร์กซิสต์ในอัฟกานิสถานคราวนี้จะข้ามไปมีอิทธิพลต่อประชาชนชาวมุสลิมจำนวนมากที่อยู่ตามสาธารณรัฐต่างๆในพรมแดนสหภาพโซเวียต ส่วนเหตุการณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวโยงถึงกัน คือ การปฏิวัติของชาวมุสลิมที่ประสบความสำเร็จในประเทศเพื่อนบ้านอิหร่าน และมีการประกาศสถาปนารัฐอิสลามอย่างเป็นทางการขึ้นในปากีสถาน เป็นต้น มีสิ่งบอกเหตุบางอย่างส่อแสดงว่า สหภาพโซเวียตจะประสบความสำเร็จในอัฟกานิสถานได้หากใช้วิธีการแทรกแซงทางทางเศรษฐกิจและการศึกษามากกว่าที่จะใช้แสนยานุภาพทางการทหารเข้าไปแทรกแซง

ความสำคัญ ในยุคใหม่นี้ อัฟกานิสถานเป็นกันชนป้องกันมิให้พระเจ้าซาร์ และต่อมาคือสหภาพโซเวียตมีความทะเยอทะยานแผ่อำนาจเข้ามาทางอ่าวเปอร์เซียและมหาสมุทรอินเดีย การที่โซเวียตเข้ามาตั้งกองทัพอยู่ในอัฟกานิสถานซึ่งอยู่ห่างจากปากอ่าวเปอร์เซียเพียงไม่กี่ร้อยไมล์ ในขณะที่สหรัฐอเมริกากำลังวุ่นวายอยู่กับวิกฤตการณ์ยึดตัวประกันในอิหร่านนั้น ได้นำไปสู่การประกาศของหลักนิยมคาร์เตอร์เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1980 ประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ ได้เตือนสหภาพโซเวียต และต่อมา ประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ก็ได้เห็นด้วยกับคำประกาศนี้ว่า ความพยายามจากภายนอกใดๆในอันที่จะควบคุมอ่าวเปอร์เซียจะเป็นการคุกคามต่อผลประโยชน์อันสำคัญอย่างยิ่งยวดของสหรัฐอเมริกา และว่า สหรัฐอเมริกาจะต่อต้านภัยคุกคามนั้นด้วยการใช้กำลังทหารหากมีความจำเป็น แนววิธีการเผชิญหน้าโดยตรงระหว่างสองอภิมหาอำนาจจึงเป็นที่กระจ่างชัด ความพยายามทั้งปวงทั้งในระดับระหว่างประเทศและในระดับประเทศที่สามเพื่อจะยุติสงครามจึงไม่ประสบความสำเร็จ

No comments:

Post a Comment