Google

Sunday, October 18, 2009

Peace Policy : Kellogg-Briand Pact

นโยบายสันติภาพ : กติกาสัญญาเคลลอกก์ - บริอังด์

เป็นสนธิสัญญาแบบทั่ว ๆ ไป ซึ่งลงนามกันเมื่อปี ค.ศ. 1928 และเกือบจะทุกชาติได้ให้สัตยาบัน เป็นสนธิสัญญาที่ต้องการให้ถือว่าการใช้สงครามเป็นเครื่องมือของนโยบายแห่งชาตินั้นเป็นการผิดกฎหมาย ชื่อเป็นทางการของสนธิสัญญานี้ ก็คือ "สนธิสัญญาทั่วไปว่าด้วยการงดเว้นการทำสงคราม" หรือเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า "กติกาสัญญากรุงปารีส" ผู้ร่างสนธิสัญญาฉบับนี้ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ นายแฟรงก์ บี. เคลลอกก์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศศ นายอครีดิด บริอังด์ มีมาตราสำคัญอยู่ 2 มาตรา คือ มาตราแรก กำหนดให้ประเทศผู้ลงนามในกติกาสัญญานี้ประณามการใช้สงครามเพื่อแก้ไขความขัดแย้งระหว่างประเทศ และให้เลิกใช้สงครามเป็นเครื่องมือของนโยบายแห่งชาติในความสัมพันธ์กับรัฐอื่น " และมาตราที่ 2 ก็มีข้อกำหนดไว้ว่า "การแก้ไข หรือการขจัดข้อพิพาทหรือความขัดแย้งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะมีลักษณะใด หรือมีต้นกำเนิดมาจากอะไร...จะต้องไม่ทำโดยวิธีอื่นนอกเสียจากโดยวิธีสันติวิธี" อย่างไรก็ดี ในการให้สัตยาบันกติกาสัญญานี้ มีหลายชาติได้พ่วงข้อสงวนสิทธิ์ของตนไว้ว่าให้หมายถึงเฉพาะปฏิบัติการทางทหารในเชิงรุกเท่านั้น มิได้หมายรวมถึงปฏิบัติการทางทหารในเชิงรับ ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาได้กำหนดไว้ในข้อสงวนสิทธิ์ของตนว่า กติกาสัญญานี้มิได้ทำลายสิทธิ์ของการป้องกันตนเอง รวมถึงนำหลักนิยมมอนโรมาใช้บังคับ และทั้งมิได้ผูกมัดให้ชาติใด ๆ ต้องร่วมลงโทษต่อผู้รุกรานด้วย

ความสำคัญ กติกาสัญญาเคลลอกก์ - บริอังด์นี้ เป็นหนึ่งในความพยายามที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ระบบรักษาสันติภาพของสันนิบาตชาติใน 2 วิธีด้วยกัน คือ (1) เป็นการให้โอกาสแก่สหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่ยอมเข้าร่วมในสันนิบาตชาติได้มีส่วนร่วมในการประณามการทำสงครามด้วย และ(2) เป็นการอุดช่องว่างในระบบความมั่นคงของสันนิบาตชาติที่ในกติกาสันนิบาตชาติได้อนุญาตให้รัฐต่าง ๆ ทำสงครามได้ภายใต้สภาพแวดล้อมบางอย่าง อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุที่มีการสงวนสิทธิ์เป็นเงื่อนไขในการให้สัตยาบัน ข้อห้ามที่กำหนดไว้เพื่อให้รัฐต่าง ๆ ปฏิบัตินั้นก็เท่ากับว่าได้ถูกลบล้างไปด้วย และด้วยเหตุที่รัฐต่าง ๆ เมื่อทำสงครามก็มักจะอ้างว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันตนเองทั้งนั้น และก็เนื่องจากไม่มีคำนิยามให้ไว้ในกติกาสัญญาที่ระบุถึงข้อแตกต่างระหว่างสงครามรุกรานกับสงครามป้องกันตนเองเช่นนี้ ทำให้กติกาสัญญาฉบับนี้มีผลเพียงเล็กน้อยที่จะยับยั้งมิให้มีการใช้สงครามเป็นเครื่องมือในนโยบายของรัฐ ยกตัวอย่างเช่น สถานการณ์ทางพรมแดนญี่ปุ่นได้ใช้เป็นเหตุบุกโจมตีจีนเมื่อ ค.ศ. 1931 และ ค.ศ. 1937 ส่วนทางด้านอิตาลีก็ได้บุกเข้าไปในเอธิโอเปียเมื่อ ค.ศ. 1935 ในทั้งสองกรณีนี้ฝ่ายที่โจมตีต่างก็อ้างว่าทำไปเพื่อป้องกันตนเอง อย่างไรก็ดี การละเมิดกติกาสัญญากรุงปารีสนี้ ได้ถูกนำไปเป็นข้อกล่าวหาอย่างหนึ่งต่อเหล่าอาชญากรสงครามนาซีและญี่ปุ่น ที่ทำการตัดสินโดยศาลพันธมิตร ณ เมืองนูเรมเบิร์ก ประเทศเยอรมนี และ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

No comments:

Post a Comment