Google

Sunday, October 18, 2009

War Measures : Intervention

มาตรการทางสงคราม : การแทรกแซง

การที่รัฐหนึ่งเข้าไปยุ่งเกี่ยวในกิจการของอีกรัฐหนึ่งหรือของรัฐอีกกลุ่มหนึ่ง เพื่อให้มีผลกระทบต่อนโยบายภายในหรือนโยบายภายนอกของรัฐที่ถูกแทรกแซงนั้น กฎหมายระหว่างประเทศได้กำหนดไว้ว่า การแทรกแซงที่ถูกต้องตามกฎหมายสามารถกระทำได้ในกรณีต่อไปนี้ (1) ในกรณีที่รัฐผู้เข้าแทรกแซงได้รับสิทธิให้เข้าแทรกแซงได้โดยทางสนธิสัญา (2) ในกรณีที่รัฐละเมิดข้อตกลงที่ให้กำหนดนโยบายร่วมกันไว้แต่ได้กระทำการลงไปโดยฝ่ายเดียว (3) ในกรณีที่เกิดความจำเป็นจะต้องแทรกแซงเพื่อปกป้องพลเมืองของตน (4) ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อป้องกันตนเอง หรือ (5) ในกรณีที่มีรัฐใดรัฐหนึ่งละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ การแทรกแซงนี้ในกฎบัตรสหประชาชาติกำหนดไว้ว่าให้กระทำได้ ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการร่วมกันโดยประชาคมระหว่างประเทศ ต่อรัฐใดรัฐหนึ่งที่เป็นภัยคุกคามหรือทำลายสันติภาพ หรือปฏิบัติการก้าวร้าวรุกราน

ความสำคัญ ในทางประวัติศาสตร์ การแทรกแซงส่วนใหญ่จะเป็นการกระทำของชาติมหาอำนาจ ที่ต้องการจะขยายหรือคงอำนาจครอบงำเหนือรัฐที่อ่อนแอ ส่วนเหตุผลอื่น ๆ ของการเข้าแทรกแซง ได้แก่ เพื่อตอบโต้ต่อรัฐเล็ก ๆ ในการปกป้องสิทธิของคนสัญชาติตน เพื่อบังคับให้ใช้หนี้ เพื่อให้ผ่อนปรนในทางการค้า และเพื่อปกป้องทรัพย์สิน นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา องค์ประกอบทางด้านอุดมการณ์เป็นรากฐานสำคัญของการเข้าแทรกแซง โดยที่ชาติใหญ่ ๆ ใช้วิธีการแทรกแซงนี้เพื่อให้เกิดผลตามที่ตนประสงค์ในการกบฏและสงครามกลางเมืองในรัฐอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อหลัง ค.ศ. 1917 มหาอำนาจฝ่ายพันธมิตรได้ส่งกองทัพเข้าไปในรัสเซียเพื่อทำการปราบปรามการปฏิวัติบอลเชวิก ส่วนกรณีที่สหภาพโซเวียตส่งทหารเข้าไปปราบปรามฝ่ายกบฏในฮังการีเมื่อ ค.ศ. 1956 และในกรณีที่สหรัฐอเมริกาเข้าแทรกแซงในสาธารณรัฐโดมินิกันเมื่อปี ค.ศ. 1965 ล้วนมีเหตุจูงใจมาจากความกลัวว่า ฝ่ายตนจะสูญเสียรัฐสำคัญ ๆ เหล่านี้ให้แก่อีกค่ายที่มีความขัดแย้งทางอุดมการณ์กับตนอยู่นั้น สหภาพโซเวียตเข้าแทรกแซงในอัฟกานิสถานในช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1980 ก็มีเหตุจูงใจมาจากความเชื่อว่าหากตนไม่เข้าแทรกแซง ประเทศอัฟกานิสถานและประชาชนจะไม่เชื่อถือลัทธิคอมมิวนิสต์ และความยิ่งใหญ่ของสหภาพโซเวียต การแทรกแซงที่มีเหตุจูงใจมาจากการเมืองและอุดมการณ์นี้ มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นเมื่อบทบาทที่ความยิ่งใหญ่ของมหาอำนาจถูกคุกคามในเขตอิทธิพลของตน ส่วนการแทรกแซงโดยรัฐเล็กรัฐน้อยในกลุ่มประเทศโลกที่สามเข้าไปในดินแดนของรัฐเพื่อนบ้าน ก็ได้เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำอีกเช่นกัน

No comments:

Post a Comment