Google

Sunday, October 18, 2009

Alliance : Japanese-American Security Treaty

ความเป็นพันธมิตร : สนธิสัญญาความมั่นคงญี่ปุ่น-อเมริกัน

กติกาสัญญาป้องกันแบบทวิภาคี ซึ่งกำหนดให้มีการ ปรึกษาหารือร่วมกัน หากความมั่นคงของญี่ปุ่นถูกคุกคาม สนธิสัญญาความมั่นคงญี่ปุ่น-อเมริกันฉบับเดิมได้มีการลงนามกันเมื่อ ค.ศ. 1951 และได้มีการลงนามสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกันฉบับปรับปรุงที่วอชิงตันเมื่อปี ค.ศ. 1960 ภายใต้สนธิสัญญาฉบับใหม่นี้ สหรัฐอเมริกามีสิทธิ์ที่จะคงกำลังทางบก ทางเรือ และทางอากาศไว้ในญี่ปุ่น กองกำลังทั้งสามเหล่านี้อาจจะถูกใช้ (1) เพื่อรักษาสันติภาพและความมั่นคงในตะวันออกไกลโดยที่ไม่ต้องมีการปรึกษาหารือกันก่อนแต่อย่างใด หรือ (2) เพื่อปกป้องญี่ปุ่นจากการถูกโจมตีทางกำลังอาวุธ ทั้งนี้ภายหลังจากที่ได้มีการปรึกษาหารือกันเรียบร้อยแล้ว สนธิสัญญานี้ได้ระบุไว้ว่า ปฏิบัติการทางทหารที่ได้กระทำจากฐานทัพต่าง ๆ ของญี่ปุ่นภายนอกประเทศญี่ปุ่นนั้น "จะต้องมีการปรึกษาหารือกันก่อนกับรัฐบาลญี่ปุ่น"

ความสำคัญ สนธิสัญญาความมั่นคงญี่ปุ่น-อเมริกันนี้ รวมทั้งที่มีการติดอาวุธให้แก่ญี่ปุ่นใหม่ และการให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ แก่หน่วยทหารอเมริกันเข้าไปใช้ญี่ปุ่นเป็นฐานทัพนี้ ได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองในญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ.1960 ในช่วงที่จะมีการให้สัตยาบันสนธิสัญญาฉบับนี้ ได้เกิดเหตุจลาจลวุ่นวายขึ้นในญี่ปุ่น ทำให้ประธานาธิบดี ดไวท์ ดี. ไอเซนฮาว ต้องยกเลิกการเดินทางไปญี่ปุ่นตามกำหนดการเดิม ถึงแม้สภาไดเอต์ของญี่ปุ่นจะให้ความเห็นชอบต่อสนธิสัญญานี้ แต่ก็ได้เกิดเหตุการณ์เดินขบวนประท้วงและการก่อเหตุความรุนแรงของกลุ่มนักศึกษาฝ่ายซ้ายขึ้นเป็นระยะ ๆ ทำให้เรื่องข้อตกลงความมั่นคงญี่ปุ่น - อเมริกันนี้เป็นประเด็นที่ยังคุกรุ่นไม่จางหายไปจากใจคนญี่ปุ่น การที่ต้องให้สหรัฐอเมริกามารับผิดชอบในความมั่นคงของญี่ปุ่นตามที่ระบุไว้ในกติกาสัญญาปี ค.ศ. 1954 นั้น ก็เพราะว่าได้มีการระบุไว้ในรัฐธรรมนูญปี ค.ศ. 1947 ที่สหรัฐอเมริกาเองก็มีส่วนร่วมให้มีการเขียนด้วย ซึ่งมีข้อความในมาตรา 9 กำหนดให้ญี่ปุ่นประณามการทำสงครามและนิยมทหาร อย่างไรก็ดี สนธิสัญญาความมั่นคงปี ค.ศ. 1960 ได้สนับสนุนให้ญี่ปุ่นทำการติดอาวุธได้อีกเพื่อป้องกันตนเอง และสนับสนุนให้มีการร่วมมือกันระหว่างสองชาติเพื่อให้บรรลุถึงจุดประสงค์ที่ว่านี้ ทุกวันนี้ญี่ปุ่นมีกองกำลังป้องกันตนเองที่มีอานุภาพมาก ประกอบด้วยกองกำลังทางบก ทางเรือ และทางอากาศ

No comments:

Post a Comment