Google

Sunday, October 18, 2009

Alliance : North Atlantic Treaty

ความเป็นพันธมิตร : สนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ

สนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน ซึ่งได้มีการลงนามกันเมื่อวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1949 กำหนดให้มีสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคแอตแลนติกเหนือโดยการป้องกันร่วมกัน ประเทศภาคีสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือมีทั้งหมด 16 ชาติ เป็นประเทศภาคีแรกตั้งจำนวน 12 ชาติ(คือ เบลเยียม อังกฤษ แคนาดา เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ไอซ์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส และสหรัฐอเมริกา) และอีก 4 ชาติได้เข้ามาให้สัตยาบันในเวลาต่อมา(คือ กรีซและตุรกี เมื่อปี ค.ศ. 1952 เยอรมนีตะวันตกเมื่อปี ค.ศ. 1955 และสเปนเมื่อปี ค.ศ.1982) เพื่อให้ข้อกำหนดในสนธิสัญญาเป็นจริงขึ้นมา ก็ได้มีการสร้างโครงสร้างทางการทหาร-การเมือง-การบริหารขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ให้มีขอบข่ายกว้างขวางมากยิ่งขึ้น องค์การหลัก ๆ ของนาโตประกอบด้วย (1) คณะมนตรีแอตแลนติกเหนือ ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินใจในปัญหานโยบายทางการเมือง - การทหารที่สำคัญ ๆ (2) กรรมาธิการการทหาร ประกอบด้วยค้วยคณะเสนาธิการทหารของประเทศสมาชิก ซึ่งจะเป็นผู้ร่างนโยบายยุทธศาสตร์ทางทหารให้คณะมนตรีความมั่นคงได้พิจารณาอีกทีหนึ่ง และ (3) คณะเลขาธิการ ซึ่งมีเลขาธิการเป็นหัวหน้า สำหรับหัวใจของสนธิสัญญาฉบับนี้อยู่ที่มาตรา 5 ซึ่งระบุไว้ว่า "ภาคีสมาชิกทั้งหลายตกลงกันว่า การโจมตีทางทหารต่อประเทศภาคีหนึ่งหรือมากกว่าในทวีปยุโรป หรือในทวีปอเมริกา ให้ถือว่าเป็นการโจมตีต่อประเทศสมาชิกทั้งปวง และ…ภาคีแต่ละชาติ...จะช่วยภาคีหรือภาคีทั้งหลายเมื่อถูกโจมตี" นับแต่ปี ค.ศ. 1969 เป็นต้นมา มาตรา 13 ของสนธิสัญญานี้ได้อนุญาตให้ภาคีสมาชิกที่ลงนามแล้วใด ๆ "ยุติเป็นภาคีได้หลังจากที่ได้แจ้งว่าจะเลิกเป็นภาคีภายใน 1 ปี" อย่างไรก็ดี ยังไม่มีภาคีสมาชิกชาติใดได้เลิกเป็นภาคีสนธิสัญญาฉบับนี้เลย

ความสำคัญ สนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือนี้ ได้ทำหน้าที่เป็นข้อตกลงความเป็นพันธมิตรทางทหารขั้นพื้นฐานของกลุ่มประเทศตะวันตก เพื่อใช้เผชิญกับภัยคุกคามจากการรุกรานทางทหารของสหภาพโซเวียตในยุโรปตะวันตกและทวีปอเมริกาเหนือ สำหรับในส่วนของสหรัฐอเมริกานั้น สนธิสัญญาฉบับนี้ เป็นการแสดงออกถึงการละทิ้งนโยบายของสหรัฐฯในอดีตที่ไม่ต้องการเป็นพันธมิตรทางทหารในยามสงบกับใคร ถึงแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าโซเวียตมีแผนโจมตีทางทหารต่อดินแดนแอตแลนติกเหนือ แต่สนธิสัญญาฉบับนี้ก็ถือได้ว่าเป็นผลิตผลของความหวาดหวั่นพรั่นพรึงที่มีอยู่ในหมู่ประเทศภาคีว่าการโจมตีดังว่านั้นอาจจะเกิดขึ้นจริง ๆ ก็ได้ ถึงแม้ว่าประเทศภาคีแห่งสนธิสัญญาจะถือว่าสนธิสัญญาฉบับนี้เป็นข้อตกลงเป็นพันธมิตรกันในเชิงรับ แต่ทว่ากลุ่มประเทศในค่ายโซเวียตในยุโรปตะวันออกกลับเห็นไปว่า สนธิสัญญาฉบับนี้เป็นการคุกคามในเชิงรุก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่เยอรมนีตะวันตกได้เข้าร่วมเป็นภาคีของนาโตนี้แล้ว เพื่อเป็นการถ่วงดุลต่อสนธิสัญญาฉบับนี้และต่อองค์การนาโต กลุ่มรัฐที่ปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์ ก็ได้ลงนามกันในกติกาสัญญาวอร์ซอเมื่อปี ค.ศ. 1955 และก็ได้จัดตั้งองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (ดับเบิลยูทีโอ) ขึ้นมาอีกด้วย การท้าทายที่สำคัญต่อแนวความคิดในการสร้างเอกภาพให้เกิดขึ้นในสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ กลับเกิดมาจากภายในหมู่ภาคีขององค์การนาโตนี้เอง โดยมีสาเหตุมาจากการแข่งขันเพื่อความเป็นผู้นำระหว่างฝรั่งเศสกับสหรัฐอเมริกา การแข่งขันกันนี้ได้นำไปสู่การออกจากองค์การนาโตของฝรั่งเศสโดยที่ยังคงให้ความเคารพต่อสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือและให้ความร่วมมือกับภาคีสมาชิกอื่น ๆ ขององค์การนาโตในเรื่องนโยบายทางการทหารต่อไป

No comments:

Post a Comment