Google

Sunday, October 18, 2009

War : Refugee

สงคราม : ผู้ลี้ภัย

บุคคลที่ถูกขับไล่ ถูกเนรเทศ หรือหลบหนีออกจากประเทศที่ตนมีสัญชาติอยู่ หรือที่ตนมีถิ่นพำนักอยู่นั้น ด้วยเหตุที่ผู้ลี้ภัยนี้ไม่มีสิทธิทางกฎหมายหรือทางการเมือง สวัสดิการของบุคคลเหล่านี้จึงตกเป็นภาระและหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ผู้ลี้ภัยนี้อาจจะถูกส่งตัวกลับบ้านเกิดเมืองนอนของตน หรืออาจจะให้อพยพเข้าไปตั้งรกรากอยู่ประเทศอื่นแล้วให้ผสมกลมกลืนเข้ากับสังคมของประเทศนั้นเมื่อรัฐบาลประเทศนั้น ๆ ยอมให้อพยพเข้าไปอยู่ได้ ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสถานภาพของผู้ลี้ภัยฉบับ ค.ศ. 1951 ซึ่งมีการแก้ไขปรับปรุงโดยพิธีสารปี ค.ศ. 1967 ได้ให้คำนิยามผู้ลี้ภัยว่า ได้แก่บุคคล"ที่เกิดความกลัวอย่างฝังจิตฝังใจว่า ตัวเองจะถูกลงโทษเพราะเหตุแห่งเผ่าพันธุ์ ศาสนา สัญชาติ เป็นสมาชิกของกลุ่มทางสังคมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือมีความคิดเห็นทางการเมือง ได้ออกไปอยู่นอกประเทศที่ตนมีสัญชาติอยู่นั้น และไม่สามารถหรือไม่อยากจะขอความคุ้มครองตนเองจากประเทศเจ้าสัญชาติของตนนั้นได้เนื่องจากเกิดความเกรงกลัวดังกล่าว"

ความสำคัญ เนื่องจากยุทธวิธีของสงครามสมัยใหม่นี้ได้ใช้วิธีการต่าง ๆ สร้างความสยดสยองตื่นกลัวให้แก่ประชาชนฝ่ายพลเรือน นอกจากนั้นแล้ว ในการปฏิวัติหรือในสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง ผู้คนจะเกิดการแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายและมีความจงเกลียดจงชังกันอันสืบเนื่องมาจากความแตกต่างกันทางด้านอุดมการณ์และด้านสัญชาติ เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้มีผู้ลี้ภัยนับล้าน ๆ คนในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 นี้ การปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยที่กระทำกันในทุก ๆ ด้านนั้น ได้เริ่มขึ้นเมื่อสันนิบาตชาติได้จัดตั้งสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฝ่ายผู้ลี้ภัยขึ้นมาเมื่อ ค.ศ. 1921 เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยจำนวนสิบสองล้านคนซึ่งได้หลบหนีออกจากประเทศรัสเซียในช่วงเกิดการปฏิวัติบอลเชวิก ความสำเร็จที่สำคัญในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในช่วงที่เกิดการสู้รบในสงครามกลางเมืองคราวนี้ ก็คือ ได้มีการเสนอให้มีการใช้พาสปอร์ต "นันเซน" พาสปอร์ตนันเซนนี้ก็คือใบรับรองที่รัฐใดรัฐหนึ่งเป็นผู้ออกให้ โดยการเสนอแนะของข้าหลวงใหญ่ให้ใช้แทนพาสปอร์ตปกติ ซึ่งทำให้ผู้ลี้ภัยที่ถือใบรับรองนี้สามารถเดินทางข้ามพรมแดนประเทศต่าง ๆ ในยุโรปได้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีบุคคลพลัดถิ่นหลายล้านคนได้หลบหนีจากบ้านเกิดเมืองนอนของตน ถูกขับออกมา ถูกเนรเทศไปเป็นเชลยศึก หรือเข้าไปอยู่ในค่ายบังคับใช้แรงงานในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1943 ถึง ค.ศ. 1947 องค์การบรรเทาทุกข์และการย้ายถิ่นฐานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นอาร์อาร์เอ) ได้ดำเนินการโครงการบรรเทาทุกข์และจัดโครงการส่งผู้ลี้ภัยจำนวน 8 ล้านคนกลับประเทศ องค์การยูเอ็นอาร์อาร์เอนี้ ได้รับการสานต่อโดยองค์การผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ (ไออาร์โอ) ซึ่งในช่วงที่องค์การไออาร์โอทำงานอยู่ คือ ระหว่างปี ค.ศ. 1947 ถึงปี ค.ศ. 1952 ก็ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยจากแอฟริกา เอเชีย ยุโรป และอเมริกา จำนวนรวมกันเกือบ 2 ล้านคน ให้เข้าไปตั้งรกรากอยู่ในประเทศอื่น หรือให้เดินทางกลับสู่มาตุภูมิเดิม นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1952 เป็นต้นมา หน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับปัญหาผู้ลี้ภัย ก็คือ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฝ่ายผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นเอชซีอาร์) ซึ่งได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเป็นการถาวรให้แก่ผู้ลี้ภัย โดยวิธีการให้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศอื่น หรือให้เกิดการผสมกลมกลืนเข้ากับสังคมใหม่ที่เข้าไปอยู่นั้น นอกจากองค์การยูเอ็นเอชซีอาร์นี้แล้ว ก็ยังมีหน่วยงานพิเศษให้การบรรเทาทุกข์และจัดหางานให้ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นอาร์ดับเบิลยูเอ)ได้ทำหน้าที่บรรเทาทุกข์แก่ผู้ลี้ภัยกว่าหนึ่งล้านคนที่ได้หลบหนีไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านอาหรับ จากผลของสงครามอาหรับ - อิสราเอล ระหว่างปี ค.ศ. 1948 – 1949 ปี ค.ศ. 1956 ปี ค.ศ. 1967 และปี ค.ศ. 1973

No comments:

Post a Comment