Google

Sunday, October 18, 2009

War Type : Cold War

ประเภทของสงคราม : สงครามเย็น

สภาวะความตึงเครียด หรือความเป็นศัตรู ที่เกิดขึ้นระหว่างมหาอำนาจตะวันตกกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงที่เกิดสงครามเย็นนี้จะมีลักษณะพิเศษดังนี้ คือมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง มีการถกเถียงทางการทูต มีการทำสงครามจิตวิทยา มีความเป็นศัตรูทางอุดมการณ์ มีการทำสงครามทางเศรษฐกิจ มีการแข่งขันสะสมอาวุธสำคัญ ๆ มีสงครามย่อย ๆ เกิดขึ้น มีการแข่งขันแย่งชิงอำนาจกันอื่น ๆ ที่ยังไม่ถึงขั้นเกิดสงครามยิงกันแบบ "สงครามร้อน" บ่อเกิดของสงครามเย็นนี้มีเหตุจากความขัดแย้งกันเกี่ยวกับการแบ่งแยกประเทศเยอรมนี การสร้างดุลอำนาจใหม่หลังสงครามยุติ การรวมกลุ่มรัฐต่าง ๆ ในยุโรปตะวันออกแล้วเปลี่ยนแปลงรัฐเหล่านี้ให้ตกมาอยู่ในเขตอิทธิพลของสหภาพโซเวียต มีการพัฒนาปรัชญาและนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ในสหรัฐอเมริกา และมีการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรต่อต้านซึ่งกันและกัน ก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งความกลัวและความหวาดระแวงกันในหมู่พันธมิตรที่ร่วมมือกันในระหว่างสงคราม สงครามเย็นยุติลงเมื่อเยอรมนีทั้งสองฝ่ายรวมประเทศได้สำเร็จ และการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในทศวรรษปี 1990

ความสำคัญ สงครามเย็นที่เกิดขึ้นมาในช่วงความยุ่งยากหลังสงคราม มีเหตุมาจากรัฐต่าง ๆ ที่แพ้สงครามแล้วถูกแบ่งแยกออกจากกัน เกิดช่องว่างทางอำนาจ เกิดการแข่งขันทางด้านอุดมการณ์ เกิดโครงการฟื้นฟูบูรณะประเทศมากมาย เกิดการสร้างอาวุธปรมาณู และเกิดการแข่งขันทางการเมืองและทางอำนาจระหว่างสองอภิมหาอำนาจที่เกิดขึ้นมาใหม่ พลังต่าง ๆ ที่เป็นตัวก่อความขัดแย้งให้สงครามเย็นในช่วงแรก ๆ ได้ขยายตัวมากขึ้น ๆ และได้เพิ่มความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นเป็นเวลานานถึง 50 ปี อย่างไรก็ดี ในระหว่างทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1960 สงครามเย็นนี้ได้ลดความเข้มข้นลงมามากโดยที่ทางฝ่ายสหภาพโซเวียตได้ผ่อนปรนข้อจำกัดใน "ม่านเหล็ก" ของตน ก่อให้เกิดลัทธิชาตินิยมหลากหลายศูนย์ขึ้นในรัฐต่าง ๆ ใน ยุโรปตะวันออก เป็นการบั่นทอนอิทธิพลของสหภาพโซเวียต นอกจากนี้แล้วก็ได้เกิดการแข่งขันชิงดีชิงเด่นในค่ายคอมมิวนิสต์ด้วยกัน คือระหว่างสหภาพโซเวียตกับจีนคอมมิวนิสต์ ทำให้สหภาพโซเวียตหันเหจากสงครามเย็นเข้าสู่ช่วงผ่อนคลายความตึงเครียด ในขณะเดียวกันนี้ทางฝ่ายสหรัฐอเมริกาเองก็ได้เริ่มสูญเสียบทบาทความเป็นผู้นำในค่ายตะวันตก ทำให้ความมีเอกภาพในกลุ่มนาโตเริ่มลดลง และสหรัฐฯ ก็ได้หันมาสนใจปัญหาทางเอเชียมากยิ่งขึ้น ทำให้การแข่งขันกันในสงครามเย็นลดระดับความเข้มข้นลงมามาก แต่พอถึงช่วงปลายทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1970 การขัดแย้งในเรื่องการแข่งขันอาวุธและในเรื่องสิทธิมนุษยชน ได้ทำให้การขัดแย้งกันในสงครามเย็นมีทีท่าว่าจะพลิกฟื้นขึ้นมาอีก แต่พอถึงช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ.1980หลังจากที่สหภาพโซเวียตบุกเข้าไปในอัฟกานิสถานแล้ว ความคลายความตึงเครียดก็ได้ถูกแทนที่โดยการขยายตัวของการแข่งขันสะสมอาวุธกระแสใหม่ขึ้นมา เกิดการคว่ำบาตรการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกกันที่มอสโกและที่ลอสแองเจลีส เป็นการเพิ่มกระแสความไม่ไว้วางใจและความเป็นศัตรูกันระหว่างสองอภิมหาอำนาจนี้

No comments:

Post a Comment