Google

Sunday, October 18, 2009

Alliance

ความเป็นพันธมิตร

ข้อตกลงของรัฐต่าง ๆ ที่จะให้การสนับสนุนกันและกันทางด้านการทหาร ในกรณีที่มีการโจมตีต่อสมาชิกใดสมาชิกหนึ่ง หรือเพื่อจะเสริมสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน ความเป็นพันธมิตรกันนี้อาจจะเป็นแบบทวิภาคีหรือแบบพหุภาคี แบบลับหรือแบบเปิดเผย แบบง่ายหรือแบบที่มีการจัดการอย่างดี แบบระยะสั้นหรือแบบระยะยาว แบบที่ใช้ป้องกันสงครามหรือแบบมีชัยในสงคราม ระบบดุลอำนาจมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนให้มีการลงนามในกติกาสัญญาเป็นพันธมิตรทางทหารกัน เพื่อสร้างภาวะสมดุลเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสมการอำนาจเกิดขึ้น กฎบัตรสหประชาชาติได้ให้การรับรองในสิทธิ "ป้องกันตนเองร่วมกัน” ไว้ในมาตรา 51

ความสำคัญ มีพันธมิตรหลายกลุ่มในทุกวันนี้ ที่ได้ขยายตัวไปเป็นองค์การระดับภูมิภาค เพื่อให้ความร่วมมือกันในด้านเศรษฐกิจ สังคม การบริหาร การระงับข้อพิพาท ตลอดจนถึงการทหาร ระบบความเป็นพันธมิตรแบบหลากหลายหน้าที่ ได้แก่ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ(นาโต)องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (ดับเบิลยูทีโอ) หรือองค์การอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น สันนิบาตอาหรับ องค์การเอกภาพแอฟริกา (โอเอยู) และองค์การรัฐอเมริกา (โอเอเอส) จะมีมาตรการเรื่องพันธกรณีด้านความมั่นคงร่วมกัน แต่ทว่ามาตรการเหล่านี้จะมุ่งผลทางการเมืองมากกว่าผลทางการทหาร ในขณะที่ความเป็นพันธมิตรกันนี้อาจจะช่วยสร้างความรู้สึกปลอดภัย และให้การป้องปรามต่อการรุกรานได้ก็จริง แต่ก็อาจจะเป็นเหตุให้เกิดความตึงเครียดระหว่างประเทศ และมีการรวมกลุ่มพันธมิตรอื่นขึ้นมาต่อต้านได้ การแข่งขันระหว่างกลุ่มพันธมิตรต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะแข่งขันกันด้านอาวุธจนทำให้เกิดวิกฤตการณ์ขึ้นมาบ่อย ๆ และบางครั้งก็ทำให้เกิดสงครามได้ด้วย ระบบความเป็นพันธมิตรกัน ที่ทำหน้าที่เป็นกลไกแห่งดุลอำนาจ มีแนวโน้มว่าจะคงอยู่ต่อไปจนกว่าจะได้มีการสถาปนาระบบความมั่นคงร่วมกันในระดับสากลขึ้นมาได้อย่างมีประสิทธิผล

No comments:

Post a Comment