Google

Sunday, October 18, 2009

War Measures : Blockade

มาตรการทางสงคราม : การปิดล้อมทางทะเล ปฏิบัติการทางเรือเพื่อป้องกันการส่งกำลังบำรุงทางเรือมิให้ไปถึงศัตรู การปิดล้อมทางทะเลนี้ อาจจะมุ่งไปที่กองทหารในสมรภูมิรบอย่างเดียว หรือเพื่อมิให้ทรัพยากรและอาหารต่าง ๆ ตกไปถึงประชาชนพลเมืองทั้งหมดด้วยก็ได้ มีการปิดล้อมทางทะเลอย่างหนึ่ง เรียกว่าการปิดล้อมทางทะเลยามสันติ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นปฏิบัติการทางสงครามแต่เป็นการแก้เผ็ดต่อการกระทำที่ผิดกฎหมาย ที่สามารถกระทำได้โดยรัฐใดรัฐหนึ่งต่ออีกรัฐหนึ่งในยามสันติ เพื่อมิให้เรือของชาติที่ทำผิดนั้น (แต่ต้องไม่รวมถึงเรือของชาติอื่น) ได้เข้าไปในท่าเรือของชาติที่ถูกปิดล้อมนั้น การปิดล้อมทางบกเพื่อมิให้มีการเดินทางผ่านดินแดนของชาติใดชาติหนึ่ง ก็อาจจะกระทำได้ในยามสันติเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น กรณีของการปิดล้อมกรุงเบอร์ลินนั้น ได้มีการปิดล้อมมิให้กองกำลังของฝ่ายพันธมิตรเดินทัพทางบกข้ามเยอรมนีด้านตะวันออกเข้าไปยังกรุงเบอร์ลินที่ถูกปิดล้อมไว้นั้น ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการลำเลียงพลทางอากาศ การที่จะทำให้การปิดล้อมทางทะเลมีผลบังคับนั้น ในทางกฎหมายระหว่างประเทศมีข้ออนุญาตให้สามารถริบเรือสินค้าและสินค้าของคู่สงคราม ตลอดถึงเรือและสินค้าของชาติเป็นกลางที่ถูกจับกุมไว้ในขณะที่พยายามจะฝ่าการปิดล้อมนั้นได้

ความสำคัญ กฎหมายระหว่างประเทศห้ามไว้มิให้ใช้วิธีกล่าวอ้าง "ปิดล้อมทางทะเลที่ไร้ผล" แต่จะต้องเป็นการปิดล้อมที่มีกองกำลังทางเรือที่มีขนาดพอเพียงมาทำให้การปิดล้อมมีประสิทธิผลขึ้นมาได้ มิฉะนั้นแล้วในทางกฎหมายเรือของชาติเป็นกลางไม่จำเป็นต้องเคารพการปิดล้อมทางทะเลนั้น นอกจากนี้แล้ว ก็จะต้องมีการเตือนภัยล่วงหน้าแก่ชาติเป็นกลาง และเรือของชาติเป็นกลางก็จะต้องมีเวลาให้พอสมควรให้สามารถเดินทางออกจากรัฐที่ถูกปิดล้อมนั้นโดยมิถูกทำลาย การปิดล้อมทางทะเลนี้ เป็นอาวุธที่มีประสิทธิผลสำหรับใช้สู้รบในสงครามสมัยนี้ เนื่องจากรัฐต่าง ๆ มีการพึ่งพาอาศัยกันทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางนั่นเอง ตัวอย่างของสงครามที่มีการปิดล้อมทางทะเลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยให้สงครามยุติลงได้นั้น ก็คือ การปิดล้อมท่าเรือของพวกฝ่ายใต้โดยพวกฝ่ายเหนือในระหว่างสงครามกลางเมืองในอเมริกา และการปิดล้อมเยอรมนีโดยอังกฤษในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2

No comments:

Post a Comment